Pages

Monday, July 27, 2015

การบรรจุเป็นครูที่นี่

เดี๋ยววันนี้เรามาอ่านเรื่องน่าเบื่อกัน แต่ผมก็คิดว่าสำคัญที่คนไทยน่าจะรู้ เผื่อจะได้เอาเป็นข้อมูลอะไรไปเปรียบเทียบหรือปรับปรุง

การบรรจุเป็นครูที่ออสเตรเลียไม่เหมือนที่เมืองไทย คือที่นี่เราไม่มีการสอบบรรจุ คือแบบว่าเรียนจบมาก็ไปสมัครเป็นครูได้เลย ไม่ว่าจะเป็นครูที่โรงเรียนรัฐบาล เอกชน หรือ Catholic

การเป็นครูที่นี่ มี 2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือกรมการศึกษา (Board of Studies) กับกระทรวงการศึกษา (Department of Education) กรมการศึกษาที่ New South Wales (NSW) จะดูแลครูทุกคนที่สอนหนังสือที่รัฐนี้ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนรัฐบาล Catholic หรือ เอกชน ก็คือว่าครูจะได้หมายเลขประจำตัวให้สอนในรัฐนี้ได้ และทางกรมการศึกษาก็จะดูว่าเราเรียนมาทางด้านใหน และสามารถสอนวิชาอะไรได้มั่ง ทุกคนที่เรียนจบมาก็แค่กรอกเอกสารไปทางกรมการศึกษา เราก็จะได้หมายเลขประจำตัวครูที่สามารถสอนได้ในรัฐนี้ สอนได้ที่รัฐนี้รัฐเดียวนะครับ ถ้าเราอยากสอนรัฐอื่นด้วย เราก็ต้องไปลงทะเบียนกับรัฐอื่นเอง 

พอเราได้หมายเลขประจำตัวครูผู้สอนมาซึ่งเราสามารถสอนได้ทั่วรัฐ

  • ถ้าเราอยากสอนโรงเรียนรัฐบาล เราก็เอาหมายเลขนี้ไปสัมภาษน์งานกับกระทรวงการศึกษา (ไม่ใช่กรมการศึกษา คนละหน่วยงานกัน) เพื่อเอาหมายเลขประจำตัวครูข้าราชการอีกต่อหนึ่ง สรุปคือเราจะมี 2 หมายเลขประจำตัว
  • ถ้าอยากจะสอนที่โรงเรียน Catholic ก็เอาหมายเลขประจำตัวที่ได้จากกรมการศึกษา ไปสมัครและสัมภาษณ์กับหน่วยงานของ Catholic ถ้าสัมภาษณ์ผ่าน เราก็สามารถสอนโรงเรียนของหน่วยงาน Catholic ได้ และก็จะได้หมายเลขประจำตัวครูสอนโรงเรียน Catholic อีกต่อหนึ่ง (อีกหนึ่งหมายเลขละ) แต่ทางโรงเรียน Catholic เองก็อยากได้คนที่นับถือศาสนา Catholic มากกว่า 
  • โรงเรียนเอกชน ง่ายหน่อย เราอยากสอนโรงเรียนใหน เราก็เอาใบสมัครไปยื่น และก็สัมภาษณ์แค่นั้นเอง เพราะโรงเรียนเอกชนไม่มีหน่วยงานกลางที่คอยดูแล ไม่เหมือนโรงเรียนรัฐบาลหรือโรงเรียน Catholic
ครูทุกคนที่รัฐ New South Wales ทุกๆ 5 ปีต้องมีการต่ออายุหมายเลขประจำตัวครูผู้สอนจากกรมการศึกษา ถ้าเราไม่ต่อ เราก็จะสอนโรงเรียนที่ NSW ไม่ได้ คือหมดสิทธิ์การสอน เพราะที่ออสเตรเลียมีครูมาใหม่และออกไปอยู่เรื่อยๆ

การต่อหมายเลขประจำตัวครูก็เพื่อเป็นการ make sure ว่าครูมีการพัฒนาตัวเองอยู่เรื่อยๆ โดยภายใน 5 ปี ครูจะต้องมีการเข้าอบรม 100 ชั่วโมง หัวข้ออะไรก็ได้ แล้วแต่เราจะเลือกเอา ดังนั้นครูที่นี่จำเป็นมากที่ทุกคนต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพราะเทคนิคการสอนและเทคโนโลยีทางการสอนก็เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องของเทคโนโยลี รัฐบาลมีการสนับสนุนเป็นอย่างมากให้เราใช้เทคโนโลยีในการสอน

การเข้าอบรมหรือเรียนรู้เพิ่มเติมก็สามารถเรียนแบบ online ก็ได้ ที่ออสเตรเลียมีเยอะแยะ

ก็ลองเปรียบเทียบความต่าง และความเหมือนกับเมืองไทยดูนะครับ เผื่อได้เกร็ดความรู้อะไรไปมั่ง


Saturday, July 25, 2015

อิสระมากเกินไปมั๊ยเธอ

เด็กๆที่ออสเตรเลีย จะถูกปลูกฝังให้มีความอิสระในการคิดการทำ ฝึกฝนให้เด็กกล้าคิดกล้าทำ มีความมั่นใจในสิ่งที่เค๊าเลือกในสิ่งที่เค๊าทำ ซึ่งก็เป็นการปลูกฝังมาแต่เด็ก ซึ่งก็จะเป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย

การที่เด็กๆมีอิสระในความคิดและการกระทำนั้นก็ดีนะ แต่ทุกอย่างต้องมีขอบเขต

โรงเรียน Catholic และโรงเรียนเอกชนที่ออสเตรเลียจะเข้มงวดในเรื่องระเบียบวินัยทุกๆอย่าง รวมไปถึงการแต่งกายและเครื่องแบบนักเรียนด้วย

ในขณะเดียวกันโรงเรียนรัฐบาลสามารถปล่อยให้เด็กนักเรียนไว้หนวดไว้เคราได้ เด็กสามารถย้อมสีผม สีอะไรก็ได้แปลกๆใหม่ๆเราเห็นมาหมดแล้ว และที่ไม่เข้าใจก็คือเรื่องการเจาะโน่นเจาะนี่ของร่างกาย คนเราถ้าเจาะหูเพราะว่าต้องการใส่ตุ้มหูไม่ว่าผู้ชายหรือผู้หญิง เออ อันนี้เราเข้าใจ แต่ที่ไม่เข้าใจคือเด็กนักเรียนมีการเจาะจมูก เจาะคิ้ว เจาะลิ้น และที่น่ากลัวและเราไม่ชอบที่สุดคือเด็กนักเรียนที่เจาะริมฝีปาก คือแบบว่ามองดูแล้วเหมือนแดร็กคูล่ายังไงบอกไม่ถูก

ซึ่งบางทีเราก็ไม่เข้าใจว่า พ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กเนี๊ยะเค๊าคิดอะไรกันยังไง ส่วนโรงเรียนรัฐบาลเราไม่ได้มีกฏห้ามอยู่แล้ว เพราะขอให้เด็กนักเรียนตั้งใจเรียนก็พอ

ที่เด็กนักเรียนชอบเจาะโน่นเจาะนี่ เจาะร่างกายของตัวเอง หรือย้อมสีผมแรงๆก็อาจเป็นเพราะว่าเด็กๆเหล่านี้กำลังค้นหาตัวเองหรืออะไรสักอย่าง ยิ่งเป็นเด็กวัยรุ่นเรียนมัธยมด้วยแล้วหละก็ มีมาแทบทุกรูปแบบ รู้สึกว่าจะหลากหลายเกินเหตุ

และที่สำคัญคือ ครูไม่มีสิทธิ์ที่จะวิจารณ์ครับผม เพราะถือว่าเป็นความพึงพอของเด็กและเด็กก็ไม่ได้ทำผิดกฏอะไร เราปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครอง ถ้าเราไปวิจารณ์โดยใช่เหตุ เราอาจถูกร้องเรียนได้

เราหรึก็ต้องทนเห็นเด็กเดินไปเดินมาในโรงเรียน ย้อมผมมีทั้ง สีฟ้า สีชมพู และสีม่วง 

จะสังเกตุว่าเด็กที่ชอบแต่งตัวแปลกๆ เรียกร้องความสนใจโดยไม่ใช่เหตุ ส่วนมากจะเป็นเด็กที่มาจากห้องที่เรียนไม่ค่อยเก่งกัน หรือเราเรียกว่าห้อง bottom class (ที่เมืองไทยก็คงเรียกว่า ห้องโหล่สุด อะไรประมาณนี้)

ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันจุดประสงค์ที่แท้จริงของการย้อมสีผมเหล่านั้นมันคืออะไรกันแน่ ถ้าทำไฮไลท์หนะ ก็พอเข้าใจ แต่ถ้าย้อมทั้งหัว เป็นสีฟ้า สีชมพู สีม่วง อะไรประมาณเนี๊ยะ คือแบบว่าไม่เข้าใจจริงๆ เค๊าก็คงคิดว่าเค๊าเท่ห์สุดหละอะไรประมาณนี้ อย่างว่าแหละนะ เด็กๆมัธยมอยู่ในวัยที่กำลังคึกคะนอง อยากลองอยากเห็น อยากเด่น อยากดัง

โชคดีปีนี้เราได้สอนแต่เด็กห้องเรียนเก่ง เลยไม่ค่อยเห็นอะไรแปลกๆ

ก็อย่างที่เกริ่นไปตั้งแต่แรกคือ เราจะเห็นอะไรแปลกๆก็แต่เฉพาะที่โรงเรียนรัฐบาลเท่านั้น โรงเรียน Catholic และโรงเรียนเอกชนจะมีกฏที่เข้มงวดเรื่องการแต่งกายมากกว่าที่โรงเรียนของรัฐบาล บางทีเราก็จะเห็นเด็กถูกเชิญออกจากโรงเรียนเอกชนเพราะเค๊าไม่ยอมโกนเครา 

เราอยู่โรงเรียนรัฐบาลก็เลยต้องรับเคราะห์ไป...

Friday, July 24, 2015

Helicopter kids

คำว่า helicopter kids คือคำที่ใช้กันบ่อยในแวดวงการศึกษาที่ออสเตรเลีย คำว่า helicopter kids ก็คือลูกๆที่พ่อแม่คิดว่าลูกตัวเองดีเลิศประเสริจศรี ทุกอย่างที่ลูกทำก็คิดว่าดีไปหมด ชมลูกไปหมด ลูกก็เลยพลอยเชื่อไปด้วยว่าเค๊าเก่ง เค๊าเลิศ เค๊าประเสริจศรีจริงๆ คือลูกเค๊าต้องบินสูงตลอด เหมือน helicopter อะไรประมาณเนี๊ยะ

พ่อแม่แบบนี้ที่ออสเตรเลียมีเยอะครับ และเราก็คิดว่าที่ใหนๆก็คงมีเหมือนๆกัน

ถ้าเจอพ่อแม่ที่คิดว่าลูกตัวเองเป็น helicopter kids นะครับ เป็นอะไรที่น่าเบื่อมาก พ่อแม่บางคนก็ควรจะตื่นออกมาจากความฝันแล้วมาเผชิญกับโลกของความเป็นจริงบ้างหน่อยก็จะดี เพราะเด็กนักเรียนหลายคน ที่บ้านจะประพฤติตัวแบบหนึ่ง แต่ที่โรงเรียนจะประพฤติตัวอีกแบบหนึ่ง อาจเป็นเพราะสิ่งแวดล้อม เพราะที่โรงเรียนมีเพื่อนๆเยอะ และเด็กนักเรียนฝรั่งที่นี่ก็จะรู้สิทธิ์อะไรต่างๆของเด็กด้วย

เค๊าจะรู้ว่าครูแตะต้องตัวเค๊าไม่ได้
เค๊าจะรู้ว่ายังไงเค๊าก็ไม่โดนเฆี่ยนที่โรงเรียนแน่นอน

ดังนั้นพ่อแม่หลายคนจะ surprise มากที่บางทีครูที่โรงเรียนโทรไปหาพ่อแม่หรือผู้ปกครองแล้วบอกเค๊าว่า เออ ลูกเธอหนะแย่นะ ลูกเธอเหลือขอนะ อะไรประมาณนี้

พ่อแม่บางคนชอบวาดฝันสวยหรู ว่าลูกเค๊าเป็นอย่างนั้น ลูกเค๊าเป็นอย่างนี้ โดยที่บางทีก็ลืมเหลือบมองดูลูกตัวเองว่าจริงๆแล้วลูกตัวเองเป็นอย่างนั้นที่ตัวเองวาดฝันเอาไว้หรือเปล่า พ่อแม่จะไม่ค่อยรู้ว่าเด็กหนะเค๊าสามารถสร้างภาพตบตาได้ ดังนั้นพ่อแม่หลายคนต้องเปิดใจให้กว้างด้วย โดยเฉพาะเด็กนักเรียนมัธยมหรือ high school เพราะเด็กโรงเรียนมัธยม เด็กๆเริ่มเป็นวัยรุ่น เริ่มเป็นหนุ่มเริ่มเป็นสาว มีอะไรหลายๆอย่างที่อยากลอง อยากรู้ อยากเห็น โดยเฉพาะเด็กฝรั่งแล้วหละก็ ไม่ต้องพูดถึง

ดังนั้นพ่อแม่หรือผู้ปกครองคนใหนชอบคิดว่าลูกตัวเองเป็น helicopter kids หละก็ เปอร์เซนต์ที่จะผิดหวังหนะมีสูงมาก

สำหรับคนที่มีลูกหรือใครอยู่ในควาดูแล แล้วคุณหละ คิดว่าเค๊าเหล่านั้นเป็น helicopter kids หรือเปล่า

ไล่เด็กออก

ใหนก็ได้เขียนเรื่องการให้เด็กพักการเรียนไปแล้ว เดี๋ยวขอต่อด้วยการไล่เด็กออกเลยก็แล้วกันนะครับ

โรงเรียนรัฐบาลกับโรงเรียนเอกชนจะมีนโยบายไม่ค่อยเหมือนกันเท่าไหร่ โรงเรียนเอกชนถ้าเมื่อไหร่นึกยากจะไล่เด็กออก อาจจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ สามารถไล่เด็กออกได้เลย ไม่ต้องรีรออะไรใดๆทั้งสิ้น

แต่โรงเรียนรัฐบาลที่ออสเตรเลียไม่ใช่จู่ๆเราจะสามารถไล่เด็กออกจากโรงเรียนได้เลย ต่อจะให้เด็กดื้อยังไงก็เถอะ เพราะเราต้องดูแลสวัสดิการเรื่องการศึกษาของเด็ก และนั่นก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องรับผิดชอบ เพราะกฏหมายที่นี่บังคับว่าเด็กต้องมีการศึกษาไม่ทางใดก็ทางหนึ่งจนกว่าเด็กจะอายุ 17 ปี ในเมื่อโรงเรียนเอกชนสามารถที่จะไล่เด็กออกได้ตลอดเวลา ดังนั้นโรงเรียนรัฐบาลก็จะต้องแบกรับภาระในเรื่องสวัสดิการทางการศึกษาของเด็ก

การที่โรงเรียนรัฐบาลจะสามารถไล่เด็กนักเรียนออกได้นั้น โรงเรียนก็ต้องโชว์ว่าเราได้พยายามทุกวิถีทางแล้วที่จะดูแลเด็ก และให้สวัสดิการทางศึกษาแก่เด็ก การที่เราจะไล่เด็กออก เราก็ต้องหาโรงเรียนใหม่ให้เด็กไปเรียน จริงๆมันก็เหมือนกับการทำงานร่วมมือกันระหว่าโรงเรียน 2 โรงเรียน เพราะการที่เราไล่เด็กออกจากโรงเรียนเรา ก็เหมือนกับเป็นการบังคับย้ายให้เด็กไปเรียนที่โรงเรียนอื่น เพราะยังไงๆก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดูแลสวัสดิการการเรียนของเด็กอยู่ดี

การที่เราจะไล่เด็กนักเรียนออกได้นั้น เด็กก็ต้องแบบว่าปีหนึ่งมีประวัติโดนให้หยุดพักการเรียนบ่อยมาก เรื่องประวัติก็ไม่ต้องห่วงครับ เพราะโรงเรียนที่ออสเตรเลียมีระบบคอมพิวเตอร์ที่เก็บข้อมูลเด็กไว้แทบทุกอย่าง ผ.อ. หรือรอง ผ.อ. มาสามารถดึงข้อมูลออกมาดูได้ตลอดเวลา ฐานระบบข้อมูลที่นี่ต้องดีมากๆ ดังนั้นครูทุกคนเราถึงจำเป็นที่จะต้องบันทึกเหตุการณ์อะไรต่างๆที่เกิดขึ้นในห้องเรียนหรือในบริเวณโรงเรียนตลอดเวลา เพราะข้อมูลพวกนี้จะได้เอานำไปประมวลผลต่อไป ทำอะไรอยู่ที่ออสเตรเลียเราก็ต้องมีข้อมูล มี data จู่ๆเราจะไปกล่าวหาเด็กนักเรียนว่าดื้อ หรือมีความประพฤติไม่เหมาะสม นั่น นี่ โน่น ไม่ได้ ดังนั้น data จึงสำคัญมาก

การที่โรงเรียนจะสามารถไล่เด็กออกได้ ทางโรงเรียนก็ต้องโชว์ว่าทางโรงเรียนได้ทำทุกวิถึทางแล้วที่จะช่วยเหลือและดูแลสวัสดิการทางการศึกษาของเด็ก และเราก็ต้องคุยกับทางผู้ปกครองอยู่เรื่อยๆว่าจะเอายังไงกับเด็กนักเรียนดี เพราะถ้าอยู่ที่เดิมแล้วการเรียนเด็กไม่คืบหน้า หรือความประพฤติไม่พัฒนาขึ้นเลย อีกทางเลือกต่อไปก็คือต้องโดนไล่ออก

การไล่เด็กนักเรียนออกไม่ใช่เป็นการทำโทษเด็ก แต่ทางโรงเรียนมองว่าเป็นการเปลี่ยนสภาพแวดล้อม เพราะโรงเรียนได้ทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว ถ้าเด็กยังไม่ปรับปรุงตัวเองอีก ก็คงถึงเวลาที่จะต้องย้ายโรงเรียนแล้วหละ แต่เป็นแบบบังคับย้าย

การที่เราไล่เด็กออก อีกอย่างหนึ่งก็คือเป็นการรักษาสภาพแวดล้อมทางการศึกษาของโรงเรียนด้วย และก็เป็นการดูแลสวัสดิการของครูผู้สอนด้วย เพราะถ้าครูได้ทำหน้าเราอย่างดีที่สุดแล้ว ถ้าสถานการณ์ยังไม่ปรับปรุง เด็กทนอยู่ไป ครูก็ปวดหัวเปล่าๆ เพราะที่โรงเรียนก็ต้องดูแลสวัสดิการของครูด้วย ไม่งั้นครูก็จะพากันลาออกไปหมด

เด็กที่โดนไล่ออกส่วนมากก็จะแบบว่าเป็นเด็กเหลือขอแล้ว ทางโรงเรียนทำทุกอย่างแล้ว ก็ประมาณว่า เออ ถ้าอยู่นี่ไม่ได้แล้ว ก็ไปๆที่อื่นสะเถอะ อะไรประมาณเนี๊ยะ

เด็กนักเรียนฝรั่งเหลือขอมีเยอะนะครับ อย่าคิดว่าไม่มี

เดี๋ยวโอกาสหน้า คงจะได้โอกาสเขียนเรื่องเด็กเหลือขอกันนะครับ

พักการเรียน

นอกจาก detention แล้ว การลงโทษที่นี่ ที่ร้ายแรงขึ้นมาอีกระดับหนึ่งก็คือ ให้ "พักการเรียน" ก็ในเมื่อเราแตะต้องตัวเด็กไม่ได้ เฆี่ยนเด็กไม่ได้ ขั้นตอนต่อไปก็คือให้หยุดพักการเรียน การให้เด็กหยุดพักการเรียนไม่ใช้หน้าที่ของครูสอนประจำวิชา (classroom teacher) แต่จะเป็นหน้าที่ของรอง ผ.อ. ซึ่งขั้นตอนก็คือ รอง ผ.อ. ก็ต้องสัมภาษณ์เด็กนักเรียนว่าเกิดอะไรขึ้น เด็กทำอะไรผิด พอสัมภาษณ์เสร็จ รอง ผ.อ. ก็จะตัดสินใจว่าความผิดของเด็กนักเรียนร้ายแรงขนาดใหน 

  • ถ้าความผิดไม่ร้ายแรงก็เป็น ให้หยุดพักการเรียนชั่วคราวระยะสั้น 4 วัน (short suspension)
  • ถ้าความผิดร้ายแรงก็จะเป็น ให้หยุดพักการเรียนชั่วคราวระยะยาว 20 วัน (long suspension)

ถ้าด่าครูด้วยคำหยาบอย่างเช่นพูดกับครูด้วยคำว่า
Fuck you = เย็ด
Bitch = แรด
Shit = ขี้

3 คำนี้เป็นคำยอดฮิตสำหรับนักเรียนฝรั่งพูดเวลาเค๊าด่ากัน ถ้าทะเลาะกับครู ถ้า 3 คำนี้เผลอออกมาจากปากเด็กเมื่อไหร่ ก็จะโดนหยุดพักการเรียนทันที จะโดนให้หยุดพักการเรียนระยะสั้น

คิดว่าที่เมืองไทยคงไม่มีเด็กนักเรียนคนใหนกล้าใช้คำพวกนี้กับครู แต่ที่ออสเตรเลีย ถ้าเด็กที่มีปัญหาเรื่องความประพฤติหน่อย 3 คำนี้มีให้ได้ยินบ่อยครับ

ส่วนความผิดร้ายแรงที่สามารถสั่งให้เด็กนักเรียนหยุดพักการเรียนระยะยาวได้ก็จะเป็นพวก

  • ชกต่อย หรือมีการทำร้ายร่างกายกัน
  • นำอาวุธมาโรงเรียน
  • พูดจาขู่อาจารย์หรือเพื่อนนักเรียนด้วยกัน
  • นำสารสิ่งเสพติดมาโรงเรียน อย่างเช่นเหล้า หรือบุหรี่

เด็กนักเรียนจะถูกให้หยุดการเรียนเพื่อความปลอดภัยของครูและเด็กคนอื่น

ถ้าจะให้นั่งเขียนว่ามีเหตุการณ์อะไรมั่งที่เด็กจะโดนหยุดพักการเรียน คิดว่าวันหนึ่งก็คงเขียนไม่หมด เอาแบบว่าคร่าวๆก็แล้วกันนะครับ

การที่เด็กถูกหยุดพักการเรียนก็เพื่อเป็นการผ่อนคลายสถานการณ์ความตรึงเครียดที่โรงเรียน ครูหรือเด็กนักเรียนคนอื่นก็จะได้มีโอกาสเรียนโอกาสสอนเป็นปกติ เพราะว่าเด็กดื้อโดนสั่งให้หยุดพักการเรียนไป 

เด็กโดนหยุดพักการเรียนก็หมายความว่าเด็กนักเรียนต้องอยู่ที่บ้าน อยู่ในความดูแลของพ่อแม่หรือผู้ปกครอง ผู้ปกครองคนใหนที่ต้องไปทำงาน ก็ต้องวุ่นวายลางานออกมาดูแลลูกตัวเอง ซึ่งพ่อแม่หรือผู้ปกครองก็จะรู้ทันทีว่าการที่เค๊าต้องหยุดงานมาดูแลลูกตัวเองนั้นมีผลกระทบต่อการงานของพวกเค๊ามากน้อยแค่ใหน ดังนั้นพ่อแม่หรือผู้ปกครองก็ไม่อยากให้ลูกตัวเองโดนหยุดพักการเรียน เพราะต้องเสียเวลามาดูแลลูกตัวเอง มีผลกระทบต่อการงาน

การที่เด็กนักเรียนโดนให้หยุดพักการเรียน ไม่ได้หมายความว่าเด็กนักเรียนจะได้นั่งอยู่บ้านเฉยๆ เพราะกฏหมายที่นี่บังคับทางโรงเรียนก็ต้องเตรียมงาน เตรียม worksheet ให้เด็กไปนั่งทำที่บ้านด้วย ส่วนมากก็เป็นแบบฝึกหัดทบทวน ซึ่งอาจารย์ประจำของชั้นปีนั้นจะเป็นผู้ดูแล ไม่ค่อยจะเป็นหน้าที่เราของครูประจำวิชาสักเท่าไหร่

เด็กนักเรียนที่นี่มีสั่งให้หยุดพักการเรียนกันทุกอาทิตย์ครับ ไม่คนใดก็คนหนึ่ง

คิดว่าคงอ่านกันพอสนุกๆแล้วนะครับ อีกไม่นานคงได้อ่านเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน

โรงเรียนที่นี่ไม่มีไม้เรียว

ในเมื่อครูที่นี่ไม่สามารถที่จะแตะต้องตัวเด็กได้ การที่จะทำโทษด้วยการเฆี่ยนเหมือนที่เมืองไทยก็หมดสิทธิ์ครับ

สมัยก่อน คิดว่าเมื่อประมาณ 30 กว่าปีที่แล้ว โรงเรียนที่ออสเตรเลียยังมีการลงโทษด้วยการเฆี่ยนอยู่นะครับ แต่หลังจากนั้นมากฏหมายก็เปลี่ยน การเฆี่ยนเด็กนักเรียนที่นี่ถือว่าผิดกฏหมาย

การลงโทษเด็กนักเรียนที่นี่จะเป็นอะไรที่หน่อมแน๊มมากถ้าเปรียบเทียบกับเมืองไทย เราเป็นคนเอเชีย เห็นการลงโทษของเด็กที่นี่แล้วคือมันคนละเรื่องกับที่เมืองไทยหรือที่เอเชียเลย หลายๆประเทศที่เอเชียยังมีการเฆี่ยนเด็กอยู่

การลงโทษเด็กที่นี่ก็คือ ถ้าเด็กทำอะไรผิด เวลาเบรคช่วงพักเที่ยง เราก็จะให้เด็กมายืนอยู่หน้าห้องพักครู นั่นแหละครับคือการลงโทษเด็กนักเรียนที่นี่ เราเรียกว่า detention หรือถ้าแปลตรงๆตัวก็คือการกักกัน ทฤษฎีก็แบบว่เราทำโทษเด็กโดนการที่เด็กหมดโอกาสไปวิ่งเล่นกับเพื่อนๆช่วงพักเที่ยง เด็กก็จะยืนอยู่นั่นแหละ หน้าห้องพักครู จนกว่าเราจะบอกให้เค๊าไป ปกติเราก็จะกักเด็กเอาไว้สัก 15 นาที คือให้ยืนไปกันจนเบื่อไปเลย

ถ้าใครเคยดูรายการต่างประเทศ ก็เห็น naughty corner คือมุมสำหรับเด็กดื้อ อะไรทำนองเนี๊ยะ

ถ้าเด็กดื้อหน่อยเราก็ต้องโทรกลับบ้านไปรายงานให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองของเด็กทราบว่าลูกเธอดื้อนะ ทำอะไรผิดในห้องวันนี้ ดังนั้นโรงเรียนที่นี่ก็จะเน้นการสื่อสารระหว่างผู้ปกครองกับครูผู้สอนมาก ถ้าเด็กนักเรียนดื้อในห้องเรียนเรา แล้วเราไม่ได้โทรไปรายงานผู้ปกครอง มันก็จะกลายเป็นว่าครูบกพร่องในหน้าที่ เป็นสะแบบนั้นไป

ระบบคอมพิวเตอร์ของโรงเรียนที่นี่ถือว่าดีมาก เราจะมีระบบในการเก็บข้อมูลความประพฤติของเด็ก ทุกครั้งที่เด็กโดนทำโทษ หรือว่าเด็กทำอะไรผิดในห้อง เราจะต้องลงบันทึกไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ แล้วครูคนอื่นหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็สามารถเข้ามาประมวลข้อมูลได้ ระบบซอฟแวร์ที่แต่ละโรงเรียนใช้ก็จะไม่เหมือนกัน แต่มันก็ไม่มีกี่บริษัที่ทำซอฟแวร์แบบนี้ออกขายให้กับสถาบันการศึกษา 

ที่โรงเรียนเราใช้ของบริษัท Sentral Education ถ้าโรงเรียนที่เมืองไทยสนใจก็ลองติดต่อดูนะครับ เผื่อจะกลายเป็นตัวแทนผู้นำเข้าไปเมืองไทย อะไรก็ว่าไป

ก็หวังคนอ่านจะได้เกร็ดความรู้อะไรแปลกๆใหม่ๆไปบ้างนะครับ

Friday, July 17, 2015

จับต้องตัวเด็กนักเรียนไม่ได้

โรงเรียนที่นี่ ไม่ว่าจะเอกชนหรือรัฐบาลเราจะมี code of conduct คือการปฏิบัติหน้าที่ของครูว่า เราไม่สามารถที่จะแตะเนื้อต้องตัวเด็กได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กผู้ชาย หรือเด็กผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็กหรือเด็กโต

เด็กเล็ก โรงเรียนประถมก็อาจจะมีการอะลุ่มอล่วยบ้างเล็กน้อย แล้วแต่สถานการณ์ แต่ปกติแล้วเราจะไม่แตะเนื้อต้องตัวเด็กเป็นอันขาดถ้าไม่จำเป็น 

ซึ่งก็อาจจะมีกรณีพิเศษบ้างอย่างเช่น เวลาที่เราห้ามเด็กตีกัน(แยกศึก) แต่ถ้าสถารการณ์ปกติทั่วๆไป เราจะไปแตะต้องตัวเด็กไม่ได้

สาเหตุก็เพื่อปกป้องสวัสดิการและความปลอดภัยของเด็ก ไม่ให้เด็กถูกล่วงเกิน ไม่ใช่ว่า เออ เราเห็นเด็กหน้าตาน่ารักแล้วไปจับ หรือไปแตะเนื้อต้องตัวเค๊า อะไรประมาณเนี๊ยะ ไม่ได้เลยครับ เพราะสังคมตอนนี้คนเป็นโรคจิตก็เยอะ ที่ชอบฉวยโอกาสกับเด็กๆ ไม่ว่าจะกับเด็กที่เป็นผู้ชายหรือผู้หญิง

ในขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการปกป้องครูด้วย จะได้ไม่ถูกฟ้องร้องเรื่องวินัย เราก็จะมี code conduct ของทางกระทรวงการศึกษาว่าครูหรือเจ้าหน้าที่ที่โรงเรียนไม่ควรแตะเนื้อต้องตัวเด็ก

ครูและเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ต้องทำงานกับเด็ก ก่อนที่ถูกบรรจุเข้าทำงาน ก็ต้องทำใบตรวจประวัติก่อนว่าเคยมีประวัติอะไรที่เป็นอันตรายต่อเด็กมั๊ย ถ้าไม่มีประวัติอะไรเราถึงจะสามารถทำงานกับเด็กได้

ทุกอย่างเป็นดาษ 2 คมเสมอ เด็กนักเรียนก็จะรู้ว่า ถ้าเค๊าดื้อหรือขี้เกียจ จู่ๆเราจะไปเข็กหัวเด็กเหมือนโรงเรียนที่เมืองไทย(สมัยก่อน) ไม่ได้นะครับ ถ้าทำอย่างนั้นเกิดเรื่องแน่นอน หรือว่าจะไปตีไปตบหลังเด็กนักเรียนเนี๊ยะไม่ได้เป็นอันขาด

ก็แนะนำให้เก็บเอาไปคิดนะครับ สรุปแล้วการที่ครูไม่สามารถแตะหรือจับตัวเด็กได้เนี๊ยะ มีผลดีหรือผลเสีย อะไรยังไงบ้าง ทั้งต่อตัวครูและต่อตัวเด็กนักเรียนเอง

Wednesday, July 15, 2015

ไม่ต้องสอบเข้า

โรงเรียนประถมและมัธยมที่รัฐ New South Wales (NSW) และคิดว่าทุกรัฐนะครับ จะไม่มีการสอบเข้า ดังนั้นเด็กๆที่นี่จะไม่บ้ากวดวิชาหรือเรียนพิเศษเหมือนที่เมืองไทย คือเราสมัครเอาลูกเราเข้าเรียนได้เลย แต่จะเข้าได้ตามที่อยู่นะครับ ที่อยู่บ้านหรือที่อยู่ที่ทำงานก็ได้ คือรัฐบาลที่นี่จะเน้นว่า รับ-ส่ง ลูกต้องสะดวก แก้ปัญหารถติดไปเลยในตัว

ดังนั้นเด็กนักเรียนที่นี่จะไม่ค่อยมีการแก่งแย่งแข่งขันอะไรกันมากมาย เพราะยังไงก็จะมีที่เรียนแน่นอน

จะมีแต่โรงเรียนมัธยมที่เป็นแบบ selective schools เท่านั้นที่ต้องสอบเข้า โรงเรียน selective schools คือโรงเรียนสำหรับเด็ก Gifted and Talented (GAT) หรือเด็กเรียนเก่ง เด็กฉลาด อะไรประมาณเนี๊ยะ ดังนั้นปัญหาอะไรต่างๆที่ selective schools แทบจะไม่มีเลย เพราะเด็กๆตั้งใจเรียน การเรียนการสอนดำเนินไปด้วยดี การที่ครูจะได้มาบรรจุที่โรงเรียน selective schools นั้นก็เป็นการยากเหมือนกัน เพราะครูทุกคนที่เข้ามาสอนที่นี่แล้ว ก็จะไม่ค่อยมีใครที่จะยอมออก ส่วนมากก็จะเกษียณที่นั่นเลย

แต่โรงเรียนรัฐบาลทั่วไปนี่สิ คือโรงเรียนไม่มีสิทธิ์เลือกนักเรียน เพราะเป็นกฏหมายของรัฐบาลที่เด็กทุกคนต้องเรียนหนังสือจนกว่าอายุ 17 หรือไม่ก็ต้องทำงานเต็มเวลา fulltime ถึงจะสามารถเลิกเรียนได้ 

สรุปก็คือทางรัฐบาลต้องการให้เด็กทุกคนได้มีโอกาสเรียนหนังสือกัน ซึ่งก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่รัฐบาลต้องทำ ถ้าพ่อแม่คนใหนไม่ส่งลูกไปโรงเรียน ก็คือว่าผิดกฏหมาย นอกเสียจากว่าพ่อแม่จะทำเรื่องอนุญาติสอนลูกเองที่บ้าน ก็มีหลายครอบครัวที่เลือกที่จะสอนลูกเองที่บ้าน ซึ่งก็จะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลมาตรวจสอบอยู่เรื่อยๆว่า พ่อกับแม่สอนลูกไปตามหลักสูตรที่ทางรัฐบาลได้ตั้งไว้หรือเปล่า

เด็กนักเรียนที่นี่จะเลือกลงโรงเรียนในพื้นที่ บ้านอยู่ใกล้โรงเรียนใหนก็ไปโรงเรียนนั้น ดังนั้นโรงเรียนรัฐบาลทั่วไปก็จะเด็กที่มาจากสถาบันครอบครัวแทบทุกรูปแบบ โรงเรียนก็จะมีเด็กห้องเรียนเก่ง top class เหมือนบ้านเรา แล้วก็จะไร่ลงไปเรื่อยๆจนถึง botton class เด็ก bottom class ที่นี่คือเด็กที่เรียนไม่เก่งหรือไม่ก็เป็นเด็กมีปัญหาเรื่องความประพฤติ

ถ้าพูดถึงเรื่องปัญหาเรื่องความประพฤติ เด็กที่นี่จะสุดยอดของความหยาบและไร้มารยาทมาก และด้วยวัฒนธรรมของฝรั่งที่มีความเป็นตัวเองสูงด้วยแล้วละก็ เถียงคำไม่ตกฟากเลียทีเดียว

จากประสบการณ์ที่ได้สอนมา เดี๋ยวจะได้อ่านประสบการณ์เด็ดๆ มันส์ๆแน่นอน

Tuesday, July 14, 2015

ระบบการเรียนการสอนที่ออสเตรเลีย มัธยม

ระบบการเรียนการสอนของโรงเรียนประถมและมัธยมที่ออสเตรเลียจะแบ่งออกเป็น 3 แบบคือ
  • โรงเรียนรัฐบาล
  • โรงเรียนที่ดำเนินการด้วยหน่วยทางศาสนา อย่างเช่น Catholic school
  • โรงเรียนเอกชนทั่วไป

เนื่องด้วยผมเป็นอาจารย์สอนที่โรงเรียนมัธยมของรัฐบาลที่รัฐ New South Wales (NSW) ระบบการเรียนการสอนที่ผมจะกล่าวถึง จะเป็นแค่ระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนมัธยมที่เป็นของรัฐบาลเท่านั้นนะครับ โรงเรียนของรัฐบาลของแต่ละรัฐ ลักษณะการเรียนการสอนก็จะคล้ายๆกัน คือนักเรียนทุกคนเรียนฟรีตั้งแต่อนุบาล จนถึง ม.6 ดังนั้นเราก็จะเจอเด็กนักเรียนทุกรูปแบบ

ดังนั้น blog นี้ก็จะมีประสบการณ์แสบๆ มันๆ มาเหล่าสู่กันฟังนะครับ โดยเฉพาะเด็กนักเรียนจาก bottom class หรือเด็กที่มาจากห้องที่เรียนไม่เก่งและส่วนมากจะมีปัญหาเรื่องนิสัยและมารยาท เพราะปัญหาสังคม ปัญหาของคนจนที่นี่มีเยอะ มีทุกรูปแบบ

คนไทยส่วนมากชอบคิดว่าที่เมืองนอกไม่มีคนจน จริงๆแล้วไม่ใช่นะครับ คนจนก็เยอะ คนตกงานก็เยอะ ฝรั่งที่เราเห็นๆไปเมืองไทยคือเค๊าถือเงินสกุลดอลลาห์ไปที่เมืองไทยเฉยๆ พอไปแลกเงินเป็นเงินไทยก็เลยได้เยอะ อะไรๆที่เมืองไทยสำหรับฝรั่งแล้วก็เลยดูไม่แพง เราก็เลยมองภาพรวมไปว่าฝรั่งมีตังค์เยอะ แต่ถ้าเค๊าใช้เงินที่ออสเตรเลีย เค๊าอาจจะไม่พอใช้ก็ได้ เพราะค่าครองชีพที่นี่แพง

จริงๆแล้วฝรั่งหลายคนที่ไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศเลยก็มี เพราะว่าความจน เงินจะกินในแต่ละวันก็เป็นเงินสวัสดิการทางสังคมที่รัฐบาลจ่ายให้ คือจ่ายให้แค่พอใช้เท่านั้น ไม่ได้มีไว้ให้ใช้ฟุ่มเฟือย

เด็กๆลูกๆ และนักเรียนที่มาจากครอบครัวเหล่านี้ก็มักจะมีปัญหาในเรื่องการเข้าสังคม มีปัญหาเรื่องกริยามารยาท มีแง่มุมมองและความคิดที่อาจผิดแปลกไปจากเด็กนักเรียนคนอื่นบ้าง

ผมก็แนะนำให้เข้ามาอ่าน blog นี้เรื่อยๆนะครับ เดี๋ยวเราจะ update อยู่เรื่อยๆ

Saturday, July 11, 2015

ทำไมถึงต้อง "ครูไทยในต่างแดน"

ไม่รู้สินะ สอนหนังสือมาก็ 4 ปีกว่าๆหละ คิดว่าถึงเวลาสักที ที่เราน่าจะมีบันทึกของ "ครูไทยในต่างแดน" สะที เผื่อคนอื่นเค๊าจะได้รู้ว่า ประสบการณ์แสบๆมันๆ กับการเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่ประเทศออสเตรเลียเนี๊ยะมันเป็นยังไง อยากจะบอกเหรอเกินว่าแตกต่างจากที่เราเคยได้พบเห็นมาเหรอเกิน

เด็กไทย ต่างกับเด็กฝรั่งเยอะ ระบบการเรียนการสอนของที่ออสเตรเลียและที่เมืองไทยก็แตกต่างกันด้วย ยิ่งถ้าพูดถึงวัฒนธรรมแล้วหละก็ ยิ่งแตกต่างกันไปใหญ่เลย

ส่วนตัวคนเขียนเอง ก็ไม่ได้เคยคิดว่าเราต้องมาเป็นอาจารย์สอนเด็กนักเรียน โดยเฉพาะมาเป็นอาจารย์สอนที่ต่างประเทศนี่ยิ่งไม่เคยคิดมาก่อนเลย แต่ก็อย่างว่าแหละนะครับ บางทีชีวิตคนเรามันก็มีอะไรแปลกๆใหม่ๆเข้ามาในชีวิตโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจเสมอ life is playing trick on you

สรุปก็คือเราได้เจออะไรแปลกๆใหม่ๆจากการเป็นอาจารย์สอนที่นี่เยอะ ก็เลยคิดว่าจะนำเรื่องราวเหล่านี้มาเสนอให้คนไทยได้อ่านกัน ได้รับรู้กันบ้าง

ก็ถือว่าเป็นเกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆ เรื่องราวขำๆก็ว่ากันไป หรือใครที่คิดจะส่งลูกมาเรียน high school ที่นี่ ก็ลองอ่านดูเป็นความรู้กันดูนะครับ