Pages

Saturday, November 14, 2015

ครูผู้บริหารต้องหนักแน่น


โรงเรียนที่ออสเตรเลีย ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนรัฐบาลหรือโรงเรียนเอกชน การบริหารปลีกย่อยจะอยู่ที่โรงเรียนสะมากกว่า เพราะหน่วยงานรัฐบาลกลางเองก็คงเข้ามาดูแลไปไม่ทั่วถึง นี่ก็เป็นที่มาของนโยบาย local school, local decision ที่ออกมาได้ไม่กี่ปีมานี่เอง

local school, local decision ก็คือการบริหารและการตัดสินใจอะไรหลายๆอย่างจะขึ้นอยู่กับผู้บริหารของโรงเรียน ซึ่งก็คือ ผ.อ. และก็ รอง ผ.อ. ซึ่งเรื่องงบประมาณอะไรพวกนี้ ทางผู้บริหารก็ต้องจัดการและดูแล ในขณะเดียวกันทางผู้บริหารเองก็ต้องดูแลสวัสดิการของครูอาจารย์และคนที่ทำงานในองค์กรนั้นๆด้วย โดยเฉพาะการลงโทษเด็กที่ทำความผิดในโรงเรียน ซึ่งรอง ผ.อ. ก็จะเป็นครูปกครองที่คอยลงโทษเด็กที่ทำความผิด

เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว เด็กนักเรียนชาย year 11 (ม.5) ได้แสดงท่าทางที่ไม่เหมาะสมทางเพศกับอาจารย์ผู้หญิง และอาจารย์ผู้หญิงคนนี้ก็เป็นอาจารย์ใหม่ คือประมาณว่าอายุก็ไม่ห่างจากเด็กนักเรียนเท่าไหร่ จริงๆแล้วสังคมฝรั่ง อายุห่างกันหรือไม่ห่างกันนั้นไม่ค่อยเกี่ยวกันเท่าไหร่ ใครจะทำอะไรกันขึ้นมา จะมี sex จะมีการร่วมเพศกันหนะเหรอ อายุมันไม่ได้เกี่ยวเลย ดังนั้นอาจารย์สาวกับเด็กนักเรียนหนุ่มๆนี่ก็ยิ่งต้องระวังเข้าไปกันใหญ่ เพราะเด็กฝรั่งโตเร็ว เด็กนักเรียน year 11 (ม.5) นี่ก็เป็นหนุ่มกันแล้ว...

การแสดงท่าทางที่บ่งบอกถึงการร่วมเพศหรือมีเพศสัมพันธ์นั้น ทางองค์กรทุกองค์กรที่ออสเตรเลีย ไม่เฉพาะที่โรงเรียน ถือว่าเป็นการหมิ่นประมาททางเพศ หรือ sexual harrasment ดังนั้นอีกฝ่ายที่ทำการหมิ่นประมาทจะต้องถูกลงโทษ ถ้าเป็นที่สถานที่ทำงาน อาจมีสิทธิ์โดนไล่ออกได้ เพราะทุกคนที่มาทำงานไม่ว่าจะเป็นองค์กรใหน หน่วยงานใหน อย่าว่าแต่โรงเรียนเลย ทุกคนที่มาทำงานจะต้องรู้สึกปลอดภัย รู้สึก safe 

ถ้าเรารู้สึกไม่ปลอดภัยแล้ว เราก็จะทำงานด้วยความหวาดผวา

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อาจารย์สาวได้ร้องเรียนไปที่รอง ผ.อ. ที่มีหน้าที่เป็นอาจารย์ฝ่ายปกครองของโรงเรียน ปรากฏว่าเด็กนักเรียนถูกหยุดพักการเรียนไปแค่ 2 วันเอง เพราะรอง ผ.อ. บอกว่าเด็กนักเรียน year 11 ไม่อยากให้หยุดพักการเรียนนาน เดี๋ยวกลัวจะเสียการเรียน แต่พวกครูก็มองว่า ถ้าเด็กนักเรียนเค๊าเป็นเด็กดี เป็นเด็กเรียนเค๊าจะไม่ทำท่าทางอะไรทุเรศแบบนี้กับอาจารย์ผู้หญิงหรอก อาจารย์หลายๆคนคิดว่าเด็กนักเรียนคนนั้นน่าจะถูกหยุดพักการเรียน 20 วัน ไม่ใช่ 2 วัน 

ครูหลายๆคนรู้สึกผิดหวังกับการบริหารและผู้ที่ทำงานอยู่เบื้องสูง ครูหลายๆคนรู้สึกว่าผู้บริหารไม่หนักแน่นกับเรื่องแบบนี้ แต่เราก็แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว เพราะรอง ผ.อ. ได้ตัดสินใจไปแล้ว จะเปลี่ยนการตัดสินใจไม่ค่อยได้ แต่เราก็ได้แต่พูดกันเอาไว้ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรที่มีการหมิ่นประมาททางเพศแบบนี้จากนักเรียนอีก ทางอาจารย์เองก็คงจะแจ้งตำรวจเลยโดยตรง คงไม่ผ่านกระบวนการบริหารของโรงเรียน เพราะครูหลายๆคนมีความรู้สึกว่ามันป่วยการที่จะผ่านระบบการบริหารของโรงเรียน เพราะระบบการลงโทษไม่หนักแน่นพอ

เรามีความรู้สึกว่าการที่ใครจะเป็นครูผู้บริหารนั้นต้องหนักแน่น ต้องมีการดูแลสวัสดิการของครูและอาจารย์ที่โรงเรียนด้วย คนทุกคนที่มาทำงาน ไม่ว่าอาจารย์ผู้ชายหรืออาจารย์ผู้หญิง จะต้องรู้สึกปลอดภัยและ safe ทุกครั้ง ทุกวันที่เรามาโรงเรียน มาทำงาน มาสอน เพราะถ้าไม่อย่างนั้นแล้วพวกเราก็คงลาป่วยลาอะไรกัน เพราะที่ออสเตรเลีย เราสามารถลาป่วยเพราะความเครียดได้ เราเรียกกันว่า stress leave 

เป็นไงหละ เจ๋งมั๊ย คือโรงเรียนที่ออสเตรเลียจะดูแลพนักงานและเจ้าหน้าที่ในเรื่องของสุขภาพจิตใจด้วย (mental health) ไม่ใช่ดูแลแค่สุขภาพทางกาย ดังนั้นเราสามารถลาแบบ stress leave ได้

หากครูผู้บริหารไม่หนักแน่นในการทำงาน ไม่หนักแน่นในการลงโทษเด็กนักเรียนที่มีความผิด ผลเสียก็จะเกิดกับโรงเรียนก็คือ อาจารย์ต่างๆจะเกิดความเครียดจากการทำงาน ลาป่วยบ่อย ซึ่งก็จะมีผลเสียต่อการเรียนการสอนที่ไม่ต่อเนื่อง สุดท้ายแล้วคนที่ได้รับผลกระทบก็คือนักเรียนเอง แต่มันก็จะกระทบต่อเด็กนักเรียนที่ตั้งใจเรียนนั่นแหละ เพราะพวกที่มาโรงเรียนไปวันๆไม่ได้ตั้งใจเรียนอะไรหระเหรอ เค๊าไม่ได้รู้สึกหรือรู้ถึงผลกระทบอะไรหรอก

การลงโทษที่ไม่หนักแน่นพอก็จะเป็นผลเสียต่อบรรยากาศการเรียนการสอนของคนส่วนใหญ่ ซึ่งก็เหมือนกับการที่เราตัดเอาเนื้อร้ายออกไปจากร่างกายเพื่อรักษาเนื้อเยื่อและเซลที่ดี ดังนั้นการครูผู้บริหารจะรักษาเนื้อเยื่อที่ดีซึ่งก็คือเด็กนักเรียนที่ตั้งใจเรียน และก็รวมไปถึงครูอาจารย์ที่ตั้งใจสอนด้วย ครูผู้บริหารก็ต้องยอมทำใจและตัดเนื้อร้ายพวกนั้นออกไป ครูผู้บริหารจะสามารถตัดสินใจตัดเนื้อร้ายออกไปได้ก็ต่อเมื่อครูผู้บริหารเองเป็นคนหนักแหน่น กล้าคิด กล้าทำ กล้าตัดใจ กล้าลงโทษเด็กไปตามความรุนแรงของการกระทำ ไม่อย่างนั้นแล้วเค๊าก็จะบริหารโรงเรียนไม่ได้ โรงเรียนขาดเสถียรภาพ การเรียนการสอนไม่ต่อเนื่อง ครูอาจารย์หมดอารมณ์และความอยากที่จะมาสอน มาทำงาน...

เราคิดว่าหลัการบริหารหน่วยงานใหนๆก็เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนหรือที่บริษัท 

แล้วองค์กรของคุณหละ ผู้บริหารหนักแน่นมั๊ย...

Sunday, November 8, 2015

ครู นักเรียน และ social media


วันนี้เลือกที่จะเขียน blog เรื่อง "ครู นักเรียน และ Social Media" เพราะว่าเราเห็นเพื่อนที่เป็นอาจารย์ที่ประเทศสิงคโปร์สอนเด็กประถมและมัธยมและมีเด็กๆนักเรียนที่เป็นลูกศิษย์เต็ม social media ของเธอไปหมดเลย เราก็ได้แอบคิดในใจว่าเพื่อนเราคิดถูกหรือคิดผิดเนี๊ยะที่ให้ลูกศิษย์เข้ามาวุ่นวายเรื่องส่วนตัว เรื่องชีวิตประจำวัน เรื่องครอบครัวของเราคนที่เป็นอาจารย์ เพราะเค๊า post อะไรลงไปใน social media เด็กๆนักเรียนก็เห็นกันหมด ความเป็นส่วนตัวหายไปใหน!! แล้วกฎหมายหรือกฎระเบียบการศึกษาที่สิงคโปร์มันเป็นยังไงเหรอ เราไม่เข้าใจ 

Note: เราเคยทำงานที่สิงคโปร์มาก่อน เป็น programmer อยู่ที่นั่น 4 ปี ก็เลยมีเพื่อนๆที่สิงคโปร์เยอะ

เราเข้าใจว่าแต่ละประเทศ กฎหมายและกฎระเบียบการศึกษาไม่เหมือนกัน ที่ออสเตรเลีย อาจารย์ทุกคนจะถูกห้ามที่จะมีเด็กๆนักเรียนลูกศิษย์มาเป็นเพื่อนใน facebook หรือโลกสังคม online, social media ของคนครู สาเหตุก็เพราะคนที่เป็นอาจารย์เราต้องแยกสังคมส่วนตัวและการงานให้ออก จะเอามาปะปนกันไม่ได้

เป็นเรื่องปกติของนักเรียนส่วนมาก โดยเฉพาะเด็กนักเรียนมัธยมที่กำลังเป็นนวัยรุ่น กำลังเริ่มสนุก กำลังเริ่มใช้ social media ใหม่ๆ อาจจะไม่ค่อยเข้าใจหลักที่ควรหรือไม่ควรว่าจะใช้ social media ให้เกิดประโยชน์อะไร ยังไงบ้าง อย่าว่าแต่เด็กนักเรียนเลย ผู้ใหญ่เราเองก็เถอะ หลายๆคนควรเรียนรู้หลักการบฏิบัติในการใช้ social media, หรือภาษาทางวิชาการเราเรียกว่า netiquette เอาไว้บ้างก็ดี อันใหนควร อันใหนไม่ควร

เด็กนักเรียนมัธยมส่วนใหญ่จะส่ง request มาขอเป็นเพื่อน หรือ add เข้ามาใน social media, คนที่เป็นอาจารย์ที่ออสเตรเลียจะต้องไม่รับเด็กนักเรียนเข้ามาใน social media ส่วนตัวของตัวเอง 

ยกเว้น Facebook page หรือ Twitter account ที่เป็น social media ทางการของทางโรงเรียน มีเอาไว้เพื่อประชาสัมพันธ์งานต่างๆให้กับนักเรียนและสังคมส่วนรวม อันนี้ถือว่า OK เพราะไม่ใช้ social media ส่วนตัว

สาเหตุที่กระทรวงการศึกษาของรัฐ NSW มีการห้ามอาจารย์ติดต่อกับเด็กนักเรียนผ่าน social media ส่วนตัว ก็เพราะว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็มีข่าวออกมาเรื่อยๆที่อาจารย์มีลูกศิษย์อยู่ใน social media ส่วนตัวของตัวเองแล้วถูกพักการสอน สาเหตุก็เนื่องด้วยมีอยู่วันหนึ่งอาจารย์ตรวจข้อสอบวิชาเคมี แล้วเด็กนักเรียนได้คะแนนน้อยกันมาก อารจารย์ก็เผลอไป update status ใน social media ส่วนตัวว่า เด็กนักเรียนพวกนี้ "โง่" จัง อะไรประมาณนี้ และเด็กนักเรียนก็ได้ทำการร้องเรียนไปที่ ผ.อ.

สรุปอาจารย์ที่สอนเคมีคนนั้นก็ถูกหยุดพักการสอน และก็เป็นข่าวออกหนังสือพิมพ์กันใหญ่โต อาจารย์คนนี้สอนอยู่ที่ Melbourne, อีกรัฐหนึ่งนะครับ

ปกติที่ออสเตรเลีย เราเป็นอาจารย์ เราจะพูดอะไร เราก็ต้องระวังปาก เราจะไม่เอาแต่จะพูด เราจะต้องคิดก่อนพูดเสมอ แล้วคำบางคำเราก็พูดไม่ได้ อย่างเช่นคำว่า "โง่" เป็นต้น แล้วถ้าไป update status ตัวเองใน social media แล้วมีนักเรียนอยู่ในนั้นอ่านเจอ รับรองได้เลยว่ากลายเป็นเรื่องใหญ่แน่นอน

หลายๆคนอาจจะอยากรู้ทำไมอาจารย์ที่ออสเตรเลียเรียกเด็กนักเรียนว่า "โง่" ไม่ได้ เราเรียกเด็กนักเรียนว่า "โง่" ไม่ได้ครับ เราต้องบอกว่าเด็กนักเรียนคนนั้น "ด้อยความสามารถ" คือประมาณว่านักเรียนได้พยายามแล้ว แต่เค๊าทำได้แค่นี้จริงๆ

นอกจากการที่เราจะต้องระวังในเรื่องของ social media แล้ว เราก็คิดว่ามันเป็นการไม่เหมาะสมที่นักเรียนต้องมารู้เห็นเรื่องส่วนตัวของเรา โดยเฉพาะสังคมที่ออสเตรเลีย เราจะให้ความสำคัญเรื่องของ privacy หรือความเป็นส่วนตัวกันมาก

แต่หลายคนอาจคิดว่า ไม่เป็นไร เพราะอาจจะสนิทกับเด็กนักเรียนบางคนเป็นพิเศษ 

ความสนิทกับเด็กนักเรียนนี่แหละยิ่งต้องระวังกันใหญ่เลย ยังไงเสียความสนิทมันก็ต้องมีขอบเขต เราบอกกับเด็กนักเรียนในห้องเสมอ โดยเฉพาะเด็ก senior class ที่เค๊าคิดว่าเค๊าโตเป็นผู้ใหญ่แล้วสามารถเป็นเพื่อนเราได้ เราย้ำกับเด็กเสมอว่า เราเป็นอาจารย์ก็ต้องเป็นอาจารย์ สนิทกับเด็กนักเรียนได้ เพราะเด็กนักเรียน senior class ส่วนมากก็โตๆกันหมดแล้ว นิสัยดี ตั้งใจเรียน ไม่ได้ไร้สาระอะไรมากมาย แต่เราก็ย้ำกับเด็กนักเรียนว่า สนิทได้แต่เป็นเพื่อนไม่ได้

เราไม่รู้นะว่าหลักการปฏิบัติของแต่ละประเทศเป็นยังไง แต่คนที่เป็นอาจารย์หรือครูก็ต้องมี common sense เพราะมันไม่ใช่เรื่อง ที่เด็กนักเรียนจะพูดจาเล่นหัวหรือแซวอะไรเราใน social media เพราะเราไม่ใช่เพื่อนเล่นเค๊า

ทุกอย่างต้องมีขอบเขต มี boundary...

Sunday, November 1, 2015

เมื่อเด็กนักเรียนแปลงเพศ


ที่ออสเตรเลียมีกฎหมายว่าด้วยเรื่องของการเปลี่ยนแปลงเพศ ถ้าคนที่จะเปลี่ยนเพศ ผ่าตัดเปลี่ยนแปลงนั่น นี่ โน่น กี่เปอร์เซ็นต์ก็ว่าไป เค๊าก็จะสามารถเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อตัวเองได้ อาจจะเปลี่ยนจาก "นาย" เป็น "นางสาว" หรือจาก "นางสาว" เป็น "นาย" ก็แล้วแต่ ที่ออสเตรเลียเรามีกฎหมายรองรับในเรื่องของแบบนี้ ในขณะเดียวกัน ในฐานะที่เราเป็นอาจารย์ ถ้าเด็กนักเรียนที่โรงเรียนเรามีการเปลี่ยนแปลงเพศกันขึ้นมา เราเป็นอาจารย์เราก็ต้องมีการตั้งรับกับสถานการณ์ต่างๆ เพราะนี่คือโรงเรียนมัธยม ไม่ใช่มหาวิทยาลัย

โรงเรียนมัธยม เรายังคงต้องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ไม่เหมือนมหาวิทยาลัย ที่เรียนแบบตัวใครตัวมัน

โรงเรียนมัธยม เด็กๆนักเรียนยังถือว่าเด็กอยู่นัก อายุเริ่มจาก 12 - 18 ปี ดังนั้นถ้าเรื่องการเปลี่ยนแปลงเพศของเด็กนักเรียนไม่ได้รับการวางแผนว่าพวกเราอาจารย์จะรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไร เหตุการณ์อะไรต่างๆที่แย่ๆก็อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะเด็กๆอาจมีการล้อเลียนกัน พูดจาอะไรเสียดสีเพื่อทำร้ายจิตใจอีกฝ่ายหนึ่งก็อาจจะเป็นได้ 

โรงเรียนที่ออสเตรเลียเราจะสนับสนุนเด็กนักเรียนในทุกๆเรื่อง ไม่ว่าเด็กนักเรียนต้องการทำอะไร อยากเป็นอะไร ขอให้พ่อแม่ที่บ้านเค๊าเห็นด้วย หน้าที่เราของคนที่เป็นอาจารย์ก็คือ เราต้องสนับสนุนและคอยดูแลอย่างใกล้ชิดว่าจะไม่เกิดการล้อเลียนอะไรกันขึ้นภายในโรงเรียน เพราะเด็กนักเรียนฝรั่ง อะไรนิดอะไรหน่อย ก็จะทำร้ายตัวเอง กรีดแขนตัวเอง นั่น นี่ โน่น สารพัดอย่างที่ครูและอาจารย์ต้องเจอ

ที่โรงเรียนเราก็มีเด็กนักเรียนผู้ชาย ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ในระหว่างการกินโฮโมนต์เพื่อเปลี่ยนเพศเป็นผู้หญิง นักเรียนได้รับการสนับสนุน ความยินยอมและเห็นด้วยจากผู้ที่เป็นแม่ แต่คนที่พ่อก็รับไม่ค่อยได้เท่าไหร่นัก ในฝ่ายของโรงเรียนเอง เราก็มานั่งคิดพิจารณาว่าสรุปแล้วเด็กนักเรียนคนนี้ต้องเริ่มแต่งเครื่องแบบแบบใหนมาโรงเรียน เราจะอะลุ่มอล่วยกับเค๊าได้มากน้อยแค่ใหน 

ทุกอย่างที่โรงเรียนดำเนินไปได้ด้วยดี เนื่องด้วยนักเรียนคนนี้อยู่ชั้น senior year แล้ว; ม.5-ม.6 เด็กนักเรียน ม.5-ม.6 เริ่มโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว การล้อกันอะไรจะไม่ค่อยมีเหมือนเด็กนักเรียนที่อยู่ junior year ม.1-ม.4 สักเท่าไหร่นัก ปัญหาอะไรก็เลยไม่ค่อยมี ดูๆแล้ว เพื่อนๆร่วม year ของเค๊าก็คอยดูแลเด็กนักเรียนคนนี้เป็นอย่างดี เหมือนเป็นกำลังใจให้กัน อะไรประมาณนี้ 

เราก็ไม่รู้ว่า อนาคตเด็กนักเรียนคนนี้จะเป็นอย่างไร เมื่อเค๊าจบ ม.6 ออกไปเผชิญโลกกว้าง เพราะโลกข้างนอก โลกของความเป็นจริง เค๊าอาจจะไม่ได้รับการ support เหมือนที่โรงเรียนก็เป็นได้ เพราะที่โรงเรียนเค๊ายังเป็นเด็กนักเรียน มีอาจารย์และเจ้าหน้าที่เยอะแยะที่คอย support เค๊า แต่ถ้าจบออกไปแล้ว มันก็เหมือนตัวใครตัวมันแล้วหละ เค๊าต้องเผอิญโลกภายนอกด้วยตัวของเค๊าเอง

เราก็ไม่แน่ใจว่าที่เมืองไทยมีระบบหรือระเบียบอะไรเพื่อรองรับเด็กนักเรียนแปลงเพศแบบนี้มั๊ย เพราะสมัยที่เราเรียนอยู่ที่เมืองไทยมันก็นานมามากแล้ว แต่ที่รู้ๆก็คือ กฎหมายอะไรต่างๆที่เมืองไทย ยังแตกต่างจากประเทศในแถบตะวันตกเยอะ

ในฐานะของคนที่เป็นอาจารย์เราก็แค่ทำหน้าที่ของเรา คือสนับสนุนเด็กนักเรียน ไม่ว่าเค๊าอยากจะทำอะไร อยากเป็นอะไร ขอให้สิ่งที่เค๊าอยากเป็นหรือสิ่งที่เค๊าอยากทำไม่ได้ก่อปัญหาหรือเป็นภาระของใคร เราคนเป็นอาจารย์ก็ต้องสนับสนุน