เนื่องด้วยที่ออสเตรเลียไม่มีการสอบบรรจุเหมือนที่เมืองไทย และที่แน่ๆคือไม่มีการใช้เส้นใช้สาย คนที่ได้งานที่นี่คือได้เพราะความสามารถจริงๆ เพราะเวลาไปสัมภาษณ์งาน ก็จะมีคนสัมภาษณ์ที่เป็นตัวแทนมาจากแผนกต่างๆ และแต่ละคนมีความคิดไม่เหมือนกัน ถ้าใครคิดจะใช้เส้นสายหรือระบบใต้โต๊ะแบบเมืองไทยหละก็ นั่นคือการฆ่าตัวตายตั้งแต่ยังไม่ได้ลงสนามรบ
การว่าจ้างของครูที่ประเทศออสเตรเลีย รัฐบาลกลางจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในแต่ละรัฐ รัฐบาลกลางจะไม่ยุ่งเกี่ยว
การว่าจ้างของครูที่ประเทศออสเตรเลียจะมีอยู่ 3 รูปแบบคือ
อาจารย์ประจำ (Permanent): เป็นตำแหน่งที่ผู้เขียนทำอยู่ทุกวันนี้คือเราสมัครเข้าไปตามตำแหน่งที่ทางโรงเรียนมีการประกาศ การประกาศก็จะประกาศที่ website ของกระทรวง ซึ่งจะมีการประกาศทุกๆวันพุธ ดังนั้นตำแหน่งสอน หรือตำแหน่งอะไรก็จะมีมาอยู่เรื่อยๆ เราก็คอยเช็ค email ของเราเอง
ถ้าเราส่งใบสมัครเข้าไปพร้อมด้วยวิชาที่เราสามารถสอนได้ ตามที่กระทรวงการศึกษาและกรมการศึกษากำหนด คือก่อนที่เราจะสมัครเราต้องมีหมายเลขประจำตัวครูผู้สอนก่อน เหมือนที่ได้เคยเขียนเอาไว้ที่ blog ก่อนหน้านี้
ถ้าเราสัมภาษณ์แล้วโดนใจกรรมการ เราก็จะได้บรรจุงานเป็นข้าราชการประจำ ข้าราชการประจำที่นี่มีข้อดีคือ ไม่มีเกษียณหมดอายุเหมือนที่เมืองไทย คือว่าเรามีแรง มีกำลังอยากจะสอนถึงอายุกี่ปีก็ได้ ดังนั้นการเป็นข้าราชการประจำที่ออสเตรเลียก็ถือว่าเป็นงานที่มั่นคงอีกงานหนึ่ง เมื่อไหร่ที่เราอยากจะเกษียณเราก็แจ้งไปทางที่กระทรวงก็แค่นั้นเอง
ข้าราชการประจำ รัฐบาลของแต่ละรัฐเป็นผู้ว่าจ้าง ไม่ใช่โรงเรียน
อาจารย์ชั่วคราว (Contract): จะเป็นอาจารย์ที่สอนเป็นเทอมๆไป ขึ้นอยู่กับสัญญาที่เซ็นเอาไว้กับทางโรงเรียน สัญญาการว่าจ้างส่วนมากก็จะเป็นเทอมๆไป หรือถ้าใครโชคดีก็จะได้สัญญา 1 ปี แต่ถ้าโรงเรียนชอบเรา โรงเรียนก็สามารถต่อสัญญาทุกๆปี หรือทุกๆเทอมได้
ข้าราชการไม่ประจำส่วนมากก็จะเป็นอาจารย์ที่จ้างมาสอนแทนอาจารย์ประจำที่เขาลาพักร้อนยาวๆ เพราะบางคนอาจจะลาคลอดและดูแลลูกซึ่งปกติแล้วก็จะมีการลาเป็นเทอมๆหรือบางคนก็ลาไปเลย 1 ปีก็มี
ข้าราชการไม่ประจำ โรงเรียนจะเป็นฝ่ายจัดหาว่าจ้างเอง ไม่ใช่รัฐบาลของแต่ละรัฐนั้นๆ ซึ่งจะตรงกันข้ามกับข้าราชการประจำ!!
อาจารย์รายวัน (Casual): คือทางโรงเรียนจะโทรเรียกเป็นรายวัน ซึ่งปกติแล้วทางโรงเรียนก็จะโทรเรียกตั้งแต่เช้าๆเลย ถามว่าเราจะมาสอนได้มั๊ย อาจารย์รายวันก็เหมือนกับเป็นอาจารย์ฉุกเฉิน แต่ละวันเราจะสอนอะไรเราไม่รู้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะต้องเข้าไปสอนแทนใครวันนี้
ดังนั้นอาจารย์รายวันหรืออาจารย์ฉุกเฉิน ถ้าอยากได้งานก็ต้องเปิดมือถือ หรือคอยรับโทรศัพท์อยู่ตลอด
เนื่องด้วยว่าอาจารย์ที่ออสเตรเลีย ถ้าใครลาป่วยฉุกเฉิน หรือมาสอนไม่ได้ในวันนั้นๆ ครูที่สอนประจำอยู่แล้วจะไม่มีการไปสอนแทน เพราะเรามีห้องสอนของเราอยู่แล้ว และสหภาพแรงงานครูและกฏหมายแรงงานที่นี่จะบ่งบอกชัดเจนเลยว่า เราสอนกี่คาบ กี่ชั่งโมง โรงเรียนไม่มีสิทธิ์มาบอกให้เราไปสอนแทนห้องอื่นเพราะชั่วโมงสอนเราจะเกิน คือประมาณว่าสวัสดิการแรงงานครูว่างั้นเถอะ
หรือบางทีครูประจำต้องพาเด็กนักเรียนไปทำกิจกรรมอะไรนอกสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขัน นั่น นี่ โน่น หรือแม้แต่พาเด็กนักเรียนไปทัศนศึกษา ทางโรงเรียนก็ต้องโทรเรียกหรือหาอาจารย์ฉุกเฉินมาสอนแทน เราไม่ค่อยใช้อาจารย์ประจำที่โรงเรียน เพราะทุกคนก็สอนเหนื่อยอยู่แล้ว
ดังนั้นอาจารย์ประจำถ้าเรารู้ว่า เราต้องไปโน่น มานี่ หรือมาสอนไม่ได้ เราก็ต้องเตรียมงานหรือ worksheet ไวให้อาจารย์ฉุกเฉิน อยู่ๆจะหายไปไม่มาสอนไม่ได้
หรือถ้าเราป่วย ไม่ได้เตรียมงานเอาไว้ให้ เราก็ต้อง text หรือ email มาบอกหัวหน้าภาควิชาว่าเราสอนเด็กถึงเรื่องอะไรแล้ว แล้วหัวหน้าภาคก็จะเป็นหา worksheet อะไรให้อาจารย์ฉุกเฉินเอง สรุปคืออาจารย์ฉุกเฉิน ไม่มีการเตรียมการเรียนการสอนอะไรทั้งสิ้น มาถึงปุ๊บตอนเช้า ก็ดูว่า อาจารย์ประจำเขาทิ้ง worksheet อะไรไว้ให้มั่ง
อาจารย์ฉุกเฉิน ในแต่ละวัน จะสอนไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าวันนั้น เรามาสอนแทนใคร
ชีวิตของการเป็นครูที่นี่ ส่วนมากจะเริ่มต้นจากการเป็น casual teacher แล้วค่อยเป็น contract แล้วถึงจะได้เป็น permanent คือประมาณว่าค่อยๆไต่เต้าขึ้นไปเรื่อยๆ จาก อาจารย์รายวัน เป็นอาจารย์ชั่วคราว แล้วถึงจะเป็นอาจารย์ถาวร
blog วันนี้ก็เอาแค่พอหอมปากหอมคอนะครับ เดี๋ยววันต่อไปจะมีเรื่องเล่าอีก
No comments:
Post a Comment