Pages

Saturday, December 26, 2015

Broken home


เนื่องด้วยเราได้ทำการสอนอยู่ที่โรงเรียนเดิมๆมาหลายปีแล้ว เราเองก็เริ่มรู้จักและสนิทกับนักเรียนหลายๆคนมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากการสอนวิชาคอมพิวเตอร์แล้วเราก็เริ่มทำพวกกิจกรรมอย่างอื่นกับเด็กนักเรียนมากยิ่งขึ้น อย่างเช่นสอนการเขียนโปรแกรมให้กับหุ่นยนต์ (Vex Robotics) และการทำกิจกรรมเสริมพวกนี้ เราก็ทำกันช่วงพักเที่ยงหรือหลังเลิกเรียน ซึ่งก็ทำให้เราให้คลุกคลีกับเด็กนักเรียนมากยิ่งขึ้น

ส่วนเด็กนักเรียน senior เอง เราก็สอนเขามาตั้งแต่ตอนที่เขาเรียนชั้น junior กัน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เราจะสนิทสนมกับเด็กนักเรียนบางกลุ่ม หรือรู้จักในเรื่องส่วนตัวของเด็กนักเรียนมากยิ่งขึ้น เพราะการเป็นครูหรืออาจารย์นั้นสำคัญที่เราต้องรู้จักเด็กนักเรียน เพราะนี่เป็นการเรียนการสอนของโรงเรียนมัธยม ไม่ใช่มหาวิทยาลัย เราก็เลยได้มีการถามสารทุกข์สุขดิบและความเป็นอยู่ของแต่ละครอบครัวของเด็กนักเรียนบ้าง

หลายๆสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการพูดคุยกับเด็กนักเรียนมันก็ทำให้เราอึ้งได้เหมือนกัน เพราะครอบครัวฝรั่งที่นี่ไม่ได้สมบูรณ์แบบอย่างที่หลายๆคนที่เมืองไทยคิดกันนะครับ เราอยู่ที่นี่มานานเราก็พอรู้แหละ แต่คนที่เมืองไทยอาจจะไม่รู้ถึงจุดนี้ แล้วยิ่งเรามาทำงานสอนด้วยแล้วหละก็ได้พบเจอเรื่องราวของครอบครัว ร้อยแปดพันเก้า เลยจริงๆ

เรามีเด็กนักเรียน year 7 คนหนึ่ง เรียนวิชาคณิตศาสตร์กับเราและก็อยู่ในกลุ่มนักเรียนที่ทำ robotics ด้วย หลังจากที่สอนเขามา 1 ปีเต็มๆปกติเราก็ไม่ได้ถามไถ่เรื่องของครอบครัวนักเรียนเท่าไหร่ โดยเฉพาะนักเรียนที่เรียน junior year เพราะโดยปกติแล้วเราชอบสอนเด็กนักเรียน senior year มากกว่าเพราะโตๆกันแล้ว เด็ก seniour year จะสอนง่ายกว่า พูดจารู้เรื่อง 

หลังจากที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับเด็กนักเรียน year 7 คนนี้ เราถามเด็กนักเรียนว่าพ่อแม่ทำงานอะไร เด็กนักเรียนก็บอกว่าพ่อเป็นยามเฝ้าศูนย์การค้า และแต่ก็อยู่ต่างรัฐ เขาไม่รู้ว่าแม่ทำอะไร เพราะไม่ได้ติดต่อกันเลย เราได้ยินก็ได้อึ้งและก็พูดไม่ออก แต่ก็แอบประทับในความเป็นพ่อของเด็กนักเรียนคนนี้ เพราะการเป็นยามเฝ้าศูนย์การค้า แล้วต้องส่งเสียลูกเรียนหนังสืออีก ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และการไปแข่งขันการเขียนโปรแกรมหุ่นยนต์ที่ผ่านมา บอกได้เลยว่า ไม่ใช่ถูกๆนะครับ เพราะนักเรียนแต่ละคนต้องแชร์ค่าที่พักกันและค่าเช่ารถบัส และมีค่าอะไรอื่นๆอีก เพราะทางโรงเรียนเองก็ไม่สามารถออกค่าใช้จ่ายให้กับเด็กนักเรียนได้หมด เพราะงบของโรงเรียนเองก็มีจำกัด สรุปการไปแข่งขัน robotics ที่ Melbourne ที่ผ่านมา นักเรียนต้องจ่ายคนละ $300 (ประมาณ 8,000 บาทไทย) ซึ่งเราเองก็คิดว่าแพงมากสำหรับเด็กๆ เราก็ได้แต่แอบคิดว่า "เฮ้อ ทำไมนะ ครอบครัวฝรั่งที่นี่มันชั่งไม่สมบูรณ์เอาสะเลย"

นอกจากครอบครัวของเด็กนักเรียน year 7 คนนี้แล้ว ช่วงก่อนปิดเทอมเราได้รู้เรื่องราวของเด็กนักเรียน senior year อีกคนหนึ่ง เขาเป็นเด็กนักเรียน year 11 และช่วงปลายปีก็ต้องการขาดเรียนช่วงบ่ายบ่อยๆเพราะต้องไปขึ้นศาล เราเองก็สงสัยและเป็นห่วงเพราะเห็นเด็กขาดเรียนบ่อยเกินไป และเนื้อหาวิชาของ senior year ก็เรียนยากด้วย หลังจากสอบถามและพูดคุยก็ถึงรู้ว่า เด็กนักเรียนต้องไปขึ้นศาลเพราะว่ามีการทะเลาะกันกับพ่อเลี้ยงและตอนนี้ก็ขึ้นศาลเพื่อขอคำสั่งศาลห้ามพ่อเลี้ยงเข้าใกล้เขาและแม่ภายในระยะกี่เมตรอะไรก็ว่าไป

นักเรียน year 11 คนนี้ ตอนนี้เขากับแม่ก็ต้องย้ายออกจากบ้านแล้วมาเช่าบ้านอยู่กัน เพราะว่าแม่กับพ่อเลี้ยงมีการทำร้ายร่างกายกัน เราได้ฟังแล้วก็รู้สึกหดหู่เพราะฟังๆดูแล้ว นี่ก็คงจะเป็นหย่าร้างครั้งที่ 2 ของแม่เขา ฟังๆดูแล้วมันดูซับซ้อนกันจริงๆเลย หย่าแล้วแต่ง แต่งแล้วหย่าเนี๊ยะ

นอกเหนือจากนี้แล้วเรายังมีเด็กนักเรียนหลายคนที่เราได้มีโอกาสสอนประเภทแบบว่า เป็นพี่น้องกัน แต่คนละพ่อคนละแม่ คนละนามสกุล ฟังๆแล้วทีแรกเราก็สับสนเหมือนกัน เพราะเด็กนักเรียนบอกเราว่า คนนั้นคนนี้เป็นพี่หรือน้องเขานะ แต่เราก็ดูนามสกุล เอ๊ะ ทำไมไม่เหมือนกัน พอสอบถามไปมา ก็ถึงกับร้องอ๋อ เพราะว่า พ่อก็มีลูกติดมาจากการแต่งงานคราวก่อน แม่ก็มีลูกติดมาจากการแต่งงานคราวก่อน ทั้งพ่อและแม่มาแต่งงานกัน ดังนั้นลูกจากทั้ง 2 ฝ่ายก็เลยถือว่าเป็นพี่เป็นน้องกัน แต่คนละพ่อ คนละแม่ คนละนามสกุล อาจารย์เองได้ฟังแล้วก็งง และปวดหัว หลังจากได้  digest ข้อมูลสักพัก เราถึงได้ร้องอ๋อ มันเป็นแบบนี้นี่เอง และก็มีนักเรียนเราอยู่หลายคู่มากที่เป็นแบบนี้

เราเองก็ได้แต่คิดในใจว่า เออ ชีวิตเด็กนักเรียนพวกนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบนะ มีนักเรียนอีกหลายคนที่ต้องนอน 2 บ้านเพราะว่าพ่อกับแม่แยกทางกัน จันทร์-ศุกร์อยู่กับแม่ เสาร์-อาทิตย์อยู่กับพ่อ ฝรั่งที่นี่เห็นเป็นเรื่องปกติ แต่เรากลับมองว่ามันเป็นอะไรที่ dysfunction ไม่อบอุ่น แต่ก็นั่นแหละ มันคือชีวิต ชีวิตที่ไม่ได้สวยหรูไปหมดสะทุกอย่าง ชีวิตที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ชีวิตของเด็ก broken home

No comments:

Post a Comment