Pages

Thursday, December 31, 2015

โรงเรียนเอกชน vs โรงเรียนรัฐบาล


แต่ละรัฐและเขตการปกครองพิเศษจะดูแลเรื่องการศึกษาของตัวเอง รัฐบาลกลางไม่ได้ดูแลในเรื่องของการจัดการการศึกษา รัฐบาลกลางจะมีหน้าที่แค่จัดสรรงบประมาณการศึกษาให้แต่ละรัฐเท่านั้น

ดังนั้นในแต่ละรัฐและเขตการปกครองพิเศษจึงมีการจัดการในเรื่องของการจบ year 12 หรือ ม.6 ที่แตกต่างกัน ที่รัฐ NSW เด็กนักเรียน year 12 จะมีการสอบ HSC (High School Certificate) เพื่อเป็นการจบ year 12

ทุกๆปีที่ NSW ผลการสอบ HSC ก็จะมีการลงหนังสือพิมพ์และการเขียนคอลัมน์เกี่ยวกับ HSC กันทุกปี เพราะหนังสือพิมพ์ที่ออสเตรเลียจะมีหมวดการศึกษา ที่มีการตีพิมพ์ทุกๆอาทิตย์ จากการสังเกตุผล HSC ของเด็กนักเรียนที่ NSW จะสังเกตุเห็นว่า เด็กนักเรียนที่ได้คะแนนสูงๆในแต่ละวิชาไม่ได้มาจากโรงเรียนเอกชนอะไรเลย ดูๆแล้วก็จะคละเคล้ากันไป แต่จะมีแนวโน้มว่าเด็กนักเรียนที่มาจากโรงเรียนรัฐบาลได้ผลการเรียน และคะแนนสอบ HSC ออกมาดีกว่านักเรียนที่มาจากโรงเรียนเอกชนเสียด้วยซ้ำ มันก็ทำให้เราเกิดคำถามว่า ก็ในเมื่อการไปเรียนที่โรงเรียนเอกชนไม่ได้ช่วยทำให้ผลการเรียนหรือผลการสอบ HSC ออกมาดี แล้วทำไมคนถึงยังชอบที่จะส่งลูกๆหลานๆไปเรียนที่โรงเรียนเอกชนกันจังเลย เสียเงินเสียทองกันมากมาย ในขณะที่โรงเรียนรัฐบาลนั้น เด็กนักเรียนเรียนฟรีไปจนถึง year 12

โรงเรียนเอกชนที่ออสเตรเลีย เด็กนักเรียนทุกคนต้องแต่งตัวถูกระเบียบเป๊ะๆๆ นักเรียนชายก็ต้องใส่สูทและผูกเนคไทมาเรียน นักเรียนหญิงต้องใส่กระโปรงยาวเลยเข่าและใส่สูทไปเรียนเหมือนกัน

หลายๆคนยอมเสียตังค์เป็นหลายๆพันเหรียญเพื่อที่จะส่งลูกไปเข้าเรียนตามโรงเรียนเอกชนเพราะ
  • เหตุผลทางด้านศาสนา เพราะโรงเรียนเอกชนสามารถเลือกที่จะสอนวิชาศาสนาตามความเชื่อของคนกลุ่มนั้นๆได้ ที่ออสเตรเลียเราก็จะมีโรงเรียนเอกชนที่เป็น Catholic, Christian และก็ Muslim ในขณะที่โรงเรียนของรัฐบาลจะไม่มีการสอนวิชาที่เกี่ยวกับศาสนาและความเชื่อ เราจะปล่อยเรื่องนี้ให้เป็นหน้าที่ของพ่อแม่หรือผู้ปกครอง
  • นักเรียนทุกคนดูสะอาดเรียบร้อย เพราะเป็นเด็กนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่ฐานะทางการเงินใช้ได้ หรือไม่ก็แบบว่า "รวย" ไปเลย เพราะถ้าไม่อย่างนั้นก็คงไม่มีตังค์จ่ายค่าเทอมส่งลูกมาเรียนโรงเรียนเอกชน
  • ต้องการให้ลูกๆหลานๆได้รู้จักและคบกับเพื่อนที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะเท่าเทียวกัน เพื่อเป็นการเบิกทางในการติดต่อหรือทำธุรกิจอะไรก็ตามแต่ในอนาคต คนมีฐานะทำอะไรกับคนมีฐานะ อะไรต่อมิอะไรมันก็ดูง่ายไปหมด ไม่แตกต่างจากเมืองไทย คนมีตังค์กระทบไหล่คนมีตังค์ คิดว่าประเทศใหนๆก็ไม่แตกต่างกัน
ส่วนตัวเราแล้ว เราก็คิดว่านั่นคือเหตุผลหลักๆของครอบครัวหลายๆครอบครัวที่ส่งเสียลูกหลานให้ไปเรียนที่โรงเรียนเอกชน เพราะถ้าจะเปรียบเทียบกันในเชิงวิชาการแล้ว เราก็มั่นใจว่าเด็กนักเรียนจากโรงเรียนรัฐบาลเรียนได้ดีไม่แพ้โรงเรียนเอกชน หรือดีกว่าด้วยซ้ำ...

Monday, December 28, 2015

จรรยาบรรณ ความรับผิดชอบ และหน้าที่


ชีวิตของการเป็นครูเป็นอาจารย์เนี๊ยะ บางทีหลายๆสิ่งหลายๆอย่างเราก็ทำไปโดยที่ถ้าถามกันว่าคุ้มมั๊ยกับค่าแรงกับค่าตอบแทนที่ได้รับ บอกได้เลยว่าค่าแรงของอาจารย์และข้าราชการที่ออสเตรเลียเยอะกว่าค่าแรงของอาจารย์และข้าราชการที่เมืองไทยอย่างแน่นอน แต่สำหรับคนที่ทำธุรกิจส่วนตัวอย่างเราแล้ว บอกได้เลยว่าธุรกิจส่วนตัวเราทำเงินได้ดีกว่าเป็นหลายเท่า สำหรับอาจารย์คนอื่นๆค่าแรงที่เขาได้รับมันก็คงคุ้มแหละนะ แต่สำหรับเราแล้ว เวลาในการสอน เวลาในการเตรียมการสอน ถ้าเราเอาเวลาพวกนี้มาทำธุรกิจส่วนตัวที่เราทำอยู่ รับรองว่าเราได้ตังค์เยอะกว่าค่าแรงที่ได้จากการสอนแน่นอน

แต่ที่ยังทำหน้าที่การสอนอยู่ทุกวันนี้ เพราะรู้ดีว่าเราสามารถเปลี่ยนชีวิตเด็กนักเรียนได้หลายชีวิต เปลี่ยนชีวิตได้หลายครอบครัวเพราะโรงเรียนที่เราสอนอยู่เป็นโรงเรียนในแถบเมืองรอบนอก ต่างจากโรงเรียนในเมืองเยอะ เพราะเรารู้ดีว่าถ้าเราลาออกแล้วก็คงยากที่โรงเรียนจะหาคนมาสอนวิชาที่เราสอนได้ เพราะอาจารย์ที่สอนวิชาคอมพิวเตอร์อย่างเรา เขาก็อยากสอนอยู่ในเมืองกัน

จรรยาบรรณ ความรับผิดชอบ และหน้าที่ มันเป็นอะไรที่หนักอยู่บนบ่านะ จะมีสักกี่คนกันที่รู้

ถ้าหากเราได้สอนโรงเรียนที่แย่ๆ นักเรียนแย่ๆ มันก็คงไม่มีปัญหาในการลาออกมาทำธุรกิจส่วนตัว เราคงไม่ใช้เวลาในการคิดนานนัก

OK, โรงเรียนที่เราสอนอยู่มันอาจจะไม่สมบูรณ์แบบ perfect เหมือนพวก selective school ที่นักเรียนต้องสอบเข้าไปเรียน โรงเรียนที่นี่มันก็มีเด็กพวก bottom class นิสัยเลวๆอยู่บ้าง แต่ 2-3 ปีที่ผ่านมา นักเรียนที่เลือกมาลงวิชาเราจะเป็นเด็กนักเรียนพวก Gifted and Talented (GAT) กันเป็นส่วนมาก บรรยากาศการเรียนการสอนของห้องอื่น วิชาอื่นอาจจะแตกต่างกันไป แต่ที่แน่ๆวิชาคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นวิชาเลือก วิชาที่เราสอน ส่วนมากจะมีแต่เด็กนักเรียนหัวกะทิที่เลือกมาลงเรียนกัน ดังนั้นจรรยาบรรณ ความรับผิดชอบ และหน้าที่จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ก็ได้แต่คิดในใจว่าวันหนึ่ง วันที่เราไม่อยู่แล้วใครจะสอนเด็กนักเรียนพวกนี้นะ

เราเองก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ วันๆนั้นจะมาถึง แต่เราก็คิดว่าคงจะไม่เป็นอาจารย์สอนมัธยมไปอีกนาน เพราะเราเองก็ต้องดำเนินชีวิตไปตามทางของเราด้วย เราก็ได้คิดว่าช่วงระยะเวลาที่เราอยู่เราก็คงทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพราะคำว่า "จรรยาบรรณ ความรับผิดชอบ และหน้าที่" เป็นอะไรที่แลกซื้อหามาด้วยเงินทองไม่ได้จริงๆ

สรุป.... เราตกหลุมรักโรงเรียนนี้ กับอาชีพนี้ไปแล้วเหรอเนี๊ยะ



Saturday, December 26, 2015

Broken home


เนื่องด้วยเราได้ทำการสอนอยู่ที่โรงเรียนเดิมๆมาหลายปีแล้ว เราเองก็เริ่มรู้จักและสนิทกับนักเรียนหลายๆคนมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากการสอนวิชาคอมพิวเตอร์แล้วเราก็เริ่มทำพวกกิจกรรมอย่างอื่นกับเด็กนักเรียนมากยิ่งขึ้น อย่างเช่นสอนการเขียนโปรแกรมให้กับหุ่นยนต์ (Vex Robotics) และการทำกิจกรรมเสริมพวกนี้ เราก็ทำกันช่วงพักเที่ยงหรือหลังเลิกเรียน ซึ่งก็ทำให้เราให้คลุกคลีกับเด็กนักเรียนมากยิ่งขึ้น

ส่วนเด็กนักเรียน senior เอง เราก็สอนเขามาตั้งแต่ตอนที่เขาเรียนชั้น junior กัน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เราจะสนิทสนมกับเด็กนักเรียนบางกลุ่ม หรือรู้จักในเรื่องส่วนตัวของเด็กนักเรียนมากยิ่งขึ้น เพราะการเป็นครูหรืออาจารย์นั้นสำคัญที่เราต้องรู้จักเด็กนักเรียน เพราะนี่เป็นการเรียนการสอนของโรงเรียนมัธยม ไม่ใช่มหาวิทยาลัย เราก็เลยได้มีการถามสารทุกข์สุขดิบและความเป็นอยู่ของแต่ละครอบครัวของเด็กนักเรียนบ้าง

หลายๆสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการพูดคุยกับเด็กนักเรียนมันก็ทำให้เราอึ้งได้เหมือนกัน เพราะครอบครัวฝรั่งที่นี่ไม่ได้สมบูรณ์แบบอย่างที่หลายๆคนที่เมืองไทยคิดกันนะครับ เราอยู่ที่นี่มานานเราก็พอรู้แหละ แต่คนที่เมืองไทยอาจจะไม่รู้ถึงจุดนี้ แล้วยิ่งเรามาทำงานสอนด้วยแล้วหละก็ได้พบเจอเรื่องราวของครอบครัว ร้อยแปดพันเก้า เลยจริงๆ

เรามีเด็กนักเรียน year 7 คนหนึ่ง เรียนวิชาคณิตศาสตร์กับเราและก็อยู่ในกลุ่มนักเรียนที่ทำ robotics ด้วย หลังจากที่สอนเขามา 1 ปีเต็มๆปกติเราก็ไม่ได้ถามไถ่เรื่องของครอบครัวนักเรียนเท่าไหร่ โดยเฉพาะนักเรียนที่เรียน junior year เพราะโดยปกติแล้วเราชอบสอนเด็กนักเรียน senior year มากกว่าเพราะโตๆกันแล้ว เด็ก seniour year จะสอนง่ายกว่า พูดจารู้เรื่อง 

หลังจากที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับเด็กนักเรียน year 7 คนนี้ เราถามเด็กนักเรียนว่าพ่อแม่ทำงานอะไร เด็กนักเรียนก็บอกว่าพ่อเป็นยามเฝ้าศูนย์การค้า และแต่ก็อยู่ต่างรัฐ เขาไม่รู้ว่าแม่ทำอะไร เพราะไม่ได้ติดต่อกันเลย เราได้ยินก็ได้อึ้งและก็พูดไม่ออก แต่ก็แอบประทับในความเป็นพ่อของเด็กนักเรียนคนนี้ เพราะการเป็นยามเฝ้าศูนย์การค้า แล้วต้องส่งเสียลูกเรียนหนังสืออีก ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และการไปแข่งขันการเขียนโปรแกรมหุ่นยนต์ที่ผ่านมา บอกได้เลยว่า ไม่ใช่ถูกๆนะครับ เพราะนักเรียนแต่ละคนต้องแชร์ค่าที่พักกันและค่าเช่ารถบัส และมีค่าอะไรอื่นๆอีก เพราะทางโรงเรียนเองก็ไม่สามารถออกค่าใช้จ่ายให้กับเด็กนักเรียนได้หมด เพราะงบของโรงเรียนเองก็มีจำกัด สรุปการไปแข่งขัน robotics ที่ Melbourne ที่ผ่านมา นักเรียนต้องจ่ายคนละ $300 (ประมาณ 8,000 บาทไทย) ซึ่งเราเองก็คิดว่าแพงมากสำหรับเด็กๆ เราก็ได้แต่แอบคิดว่า "เฮ้อ ทำไมนะ ครอบครัวฝรั่งที่นี่มันชั่งไม่สมบูรณ์เอาสะเลย"

นอกจากครอบครัวของเด็กนักเรียน year 7 คนนี้แล้ว ช่วงก่อนปิดเทอมเราได้รู้เรื่องราวของเด็กนักเรียน senior year อีกคนหนึ่ง เขาเป็นเด็กนักเรียน year 11 และช่วงปลายปีก็ต้องการขาดเรียนช่วงบ่ายบ่อยๆเพราะต้องไปขึ้นศาล เราเองก็สงสัยและเป็นห่วงเพราะเห็นเด็กขาดเรียนบ่อยเกินไป และเนื้อหาวิชาของ senior year ก็เรียนยากด้วย หลังจากสอบถามและพูดคุยก็ถึงรู้ว่า เด็กนักเรียนต้องไปขึ้นศาลเพราะว่ามีการทะเลาะกันกับพ่อเลี้ยงและตอนนี้ก็ขึ้นศาลเพื่อขอคำสั่งศาลห้ามพ่อเลี้ยงเข้าใกล้เขาและแม่ภายในระยะกี่เมตรอะไรก็ว่าไป

นักเรียน year 11 คนนี้ ตอนนี้เขากับแม่ก็ต้องย้ายออกจากบ้านแล้วมาเช่าบ้านอยู่กัน เพราะว่าแม่กับพ่อเลี้ยงมีการทำร้ายร่างกายกัน เราได้ฟังแล้วก็รู้สึกหดหู่เพราะฟังๆดูแล้ว นี่ก็คงจะเป็นหย่าร้างครั้งที่ 2 ของแม่เขา ฟังๆดูแล้วมันดูซับซ้อนกันจริงๆเลย หย่าแล้วแต่ง แต่งแล้วหย่าเนี๊ยะ

นอกเหนือจากนี้แล้วเรายังมีเด็กนักเรียนหลายคนที่เราได้มีโอกาสสอนประเภทแบบว่า เป็นพี่น้องกัน แต่คนละพ่อคนละแม่ คนละนามสกุล ฟังๆแล้วทีแรกเราก็สับสนเหมือนกัน เพราะเด็กนักเรียนบอกเราว่า คนนั้นคนนี้เป็นพี่หรือน้องเขานะ แต่เราก็ดูนามสกุล เอ๊ะ ทำไมไม่เหมือนกัน พอสอบถามไปมา ก็ถึงกับร้องอ๋อ เพราะว่า พ่อก็มีลูกติดมาจากการแต่งงานคราวก่อน แม่ก็มีลูกติดมาจากการแต่งงานคราวก่อน ทั้งพ่อและแม่มาแต่งงานกัน ดังนั้นลูกจากทั้ง 2 ฝ่ายก็เลยถือว่าเป็นพี่เป็นน้องกัน แต่คนละพ่อ คนละแม่ คนละนามสกุล อาจารย์เองได้ฟังแล้วก็งง และปวดหัว หลังจากได้  digest ข้อมูลสักพัก เราถึงได้ร้องอ๋อ มันเป็นแบบนี้นี่เอง และก็มีนักเรียนเราอยู่หลายคู่มากที่เป็นแบบนี้

เราเองก็ได้แต่คิดในใจว่า เออ ชีวิตเด็กนักเรียนพวกนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบนะ มีนักเรียนอีกหลายคนที่ต้องนอน 2 บ้านเพราะว่าพ่อกับแม่แยกทางกัน จันทร์-ศุกร์อยู่กับแม่ เสาร์-อาทิตย์อยู่กับพ่อ ฝรั่งที่นี่เห็นเป็นเรื่องปกติ แต่เรากลับมองว่ามันเป็นอะไรที่ dysfunction ไม่อบอุ่น แต่ก็นั่นแหละ มันคือชีวิต ชีวิตที่ไม่ได้สวยหรูไปหมดสะทุกอย่าง ชีวิตที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ชีวิตของเด็ก broken home

Sunday, December 20, 2015

ลักษณะนิสับการกินของนักเรียนฝรั่ง ที่น่าเป็นห่วง


เมื่อ 2-3 อาทิตย์ที่ผ่านมา เราได้มีโอกาสเดินทางกับเด็กนักเรียน 8 คน เพื่อไปแข่งขันการเขียนโปรแกรมของหุ่นยนต์ เนื่องจากว่าโรงเราอยู่ที่รัฐ NSW แล้วต้องไปแข่งขันที่ Melbourne, รัฐ VIC เราก็ต้องเดินทางไปกับเด็กๆนักเรียน โดยการเช่ารถบัสและมีรอง ผ.อ. เป็นคนขับ และมีอาจารย์หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ไปด้วยคนหนึ่ง สรุปก็คือมีอาจารย์ไป 3 คน เด็กนักเรียน 8 คน การเดินทางก็ประมาณ 10 ชั่วโมง และเราก็ไปพักที่ Caravan Park กัน 2 คืน ซึ่งก็ไม่แพงมาก

เดินทางกันวันศุกร์เช้า กลับวันอาทิตย์เช้า และช่วงของการเดินทาง เราก็ต้องมีการพัก break ให้เด็กๆนักเรียนได้ยืดเส้นยืดสาย เข้าห้องน้ำและหาอะไรกินกัน

การเดินทางของโรงเรียนที่ออสเตรเลีย ไม่ว่าจะเป็นการไปทัศนศึกษาหรืออะไรก็ตามแต่ เด็กนักเรียนต้องเตรียมเงินไปซื้ออาหารกินกันเอง หรือไม่ผู้ปกครองก็ต้องเตรียมอาหารให้กับเด็กๆ เพราะโรงเรียนมัธยม เด็กนักเรียนโตๆกันแล้ว เราจะให้เด็กๆหาซื้ออาหารกินกันเอง

จากการเดินทางในครั้งนี้ ทุกครั้งที่มีการพัก break เราก็จะเห็นนิสัยการกินของเด็กนักเรียนฝรั่งที่นี่ คือแต่ละคนจะวิ่งเข้าหาอาหารที่เป็น fastfood กันทั้งนั้น อาหารทอด อาหารที่มีแต่ cheese มีแต่เนย และเครื่องดื่มก็จะเป็นพวกเครื่องดื่มน้ำอัดลมที่มีแต่น้ำตาล ไม่เห็นว่าจะมีอะไรที่เป็นประโยชน์สักอย่าง ดังนั้นไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเด็กนักเรียนฝรั่งถึงอ้วนกันมาก

ทุกครั้งที่จอดรถเพื่อให้เด็กนักเรียนได้พักผ่อนและหาอะไรกิน แทบจะ 99.99% ปั๊มน้ำมันส่วนมากก็จะมีแต่พวกอาหาร fastfood, McDondal, KFC และอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย แทบจะหาอะไรที่มัน healthy กินไม่ได้เลย นั่นคือสิ่งที่เราสังเกตุจากการเดินทาง ทีแรกเราก็คิดว่าอาจจะเป็นเพราะในระหว่างการเดินทาง ของกินมีให้เลือกน้อย นักเรียนก็เลยต้องเลือกกินเท่าที่เค๊ามีขายกัน

แต่พอเราไปถึง Melbourne หลังจากการแข่งขันการเขียนโปรแกรมหุ่นยนต์อะไรเสร็จ เราก็พานักเรียนไปทานข้าวที่ร้านอาหาร ที่นักเรียนสามารถสั่งอะไรก็ได้ มีทั้งที่ healthy และก็ไม่ healthy

อาหารอะไรก็ไม่ได้แพงมาก นักเรียนเตรียมเงินกันมาพออยู่แล้ว เพราะเราบอกผู้ปกครองเอาไว้แล้วว่าหลังจากการแข่งขัน เราจะไปทานอาหารที่ร้านอาหารกัน 

สรุปเรื่องของราคาไม่ได้เป็นอุปสรรคอะไรกับนักเรียนเลย แต่ว่าเด็กนักเรียนชอบที่กินอาหารแบบพวก fastfood มากกว่า นี่แหละอิทธิพลของการโฆษณาอาหารพวก fastfood เด็กๆนักเรียนจะชอบกินอาหาร fastfood กันมากกว่า เพราะเป็นอะไรที่คุ้นเคย เป็นอะไรที่เห็นโฆษณาอยู่ในทีวีทุกวัน

จากการได้สัมผัสการใช้ชีวิต การกินของเด็กนักเรียน บอกได้เลยว่าน่าเป็นห่วงมาก เพราะเด็กนักเรียนบางคนสั่งน้ำอัดลมปั่นมาแล้วแก้วใหญ่ แล้วยังจะสั่งแก้วที่ 2 อีก แต่เราก็ห้ามไม่ให้นักเรียนสั่งกัน เพราะเราเป็นอาจารย์เองเรายังไม่สั่งเลยไอ้พวกน้ำอัดลมพวกนั้น และสังเกตุเห็นได้ว่า นักเรียนคนที่อยากจะสั่งน้ำอัดลมปั่นแก้วใหญ่แก้วที่ 2 จะเป็นพวกร่างใหญ่ๆทั้งนั้นเลย

เห็นแล้วก็อดที่จะเป็นห่วงไม่ได้ แต่อาจารย์ที่ประเทศออสเตรเลียจะพูดอะไรต้องระวัง เพราะอาจารย์ที่นี่ไม่มีสิทธิ์วิพากวิจารย์เรื่องรูปร่างของนักเรียน คือเรามีหน้าที่สอนวิชาอะไรเราก็สอนวิชานั้นๆไป ซึ่งเราคิดว่าผิดนะ เราคิดว่าอาจารย์ควรจะมีสิทธิ์พูดและแนะนำในเรื่องเหล่านี้ เพราะเราคิดว่าเราเป็นอาจารย์ เรามีทักษะและหลักจิตวิยาในการพูดกับนักเรียน